แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 กู้เงิน ส. และจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้เป็นประกัน ส. ให้ผู้คัดค้านเป็นตัวแทนออกหน้าเป็นผู้รับจำนองไว้แทน ส. ในฐานะตัวการไม่เปิดเผยชื่อย่อมมีสิทธิที่จะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งผู้คัดค้านได้ทำไว้แทนตนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 เมื่อ ส.ดำเนินการให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นตัวแทนโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาจำนองลำดับหนึ่งให้แก่ผู้ร้อง ย่อมถือได้ว่า ส. ตัวการได้โอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาจำนองลำดับหนึ่งนั้นให้แก่ผู้ร้องแล้ว ส. เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ การตั้งผู้คัดค้านเป็นตัวแทนไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องทำเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 798วรรคหนึ่ง การที่ผู้ร้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยที่ 1ภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าสัญญาจำนองลำดับหนึ่ง ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ คดีดังกล่าวผู้ร้องมิได้เข้าเป็นคู่ความด้วย คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันผู้ร้อง แม้ในคดีดังกล่าว ศาลฟังว่าผู้คัดค้านทำสัญญาจำนองในฐานะส่วนตัวแต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นตัวแทนของ ส.ซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ เมื่อ ส. กลับแสดงตนเข้ารับเอาสัญญาโดยดำเนินการให้ผู้คัดค้านโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องแสดงว่าผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องจาก ส. มิใช่รับโอนจากผู้คัดค้านในฐานะส่วนตัว ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยที่ 1 ภายหลังศาลมีคำพิพากษาดังกล่าวแล้วก็ตาม การโอนสิทธิเรียกร้องก็มีผลสมบูรณ์ แม้สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจะระบุว่า ผู้โอนตกลงโอนและผู้รับโอนตกลงรับโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาจำนอง ไม่มีข้อความระบุว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่า ส. ประสงค์จะโอนหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตนให้ผู้ร้องเพื่อเป็นการชำระหนี้ จึงต้องถือว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ที่ ส. มีต่อจำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งผลของการโอนย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 305สิทธิจำนองลำดับหนึ่งอันได้จดทะเบียนไว้แล้วย่อมตกไปยังผู้ร้องผู้รับโอนด้วย กรณีเช่นนี้ไม่อาจถือว่าผู้ร้องได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อันอยู่ในบังคับที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ ผู้รับจำนองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองก่อน จึงเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำนองโดยอาศัยสิทธิของเจ้าหนี้ผู้รับจำนองด้วย วิธีการพิเศษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ผู้ร้องจึงชอบที่จะได้รับชำระค่าฤชาธรรมเนียมในฐานะเจ้าหนี้จำนองด้วย
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 20 ล้านบาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้เอาที่ดินที่จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4121 ของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้และจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4121 ลำดับหนึ่งไว้กับนางสาวอนงค์พร เศลารักษ์ ในฐานะตัวแทนของนายสมดุลย์สุชาตะประคัลภ์ เป็นเงิน 10 ล้านบาท และจดทะเบียนจำนองลำดับสองไว้กับโจทก์เป็นเงิน 20 ล้านบาท ต่อมานายสมดุลย์จัดการให้นางสาวอนงค์พรโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ที่มีต่อจำเลยที่ 1ให้ผู้ร้องเพื่อชำระหนี้ ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้เงินกู้จำนวน 10 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยก่อนโจทก์และเจ้าหนี้อื่น
โจทก์ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่า นางสาวอนงค์พรเศลารักษ์ มิใช่ตัวแทนของนายสมดุลย์ สุชาตะประคัลภ์ สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องไม่ได้กล่าวถึงการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้แต่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาจำนองซึ่งไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นโมฆะ นางสาวอนงค์พรไม่เคยให้จำเลยที่ 1กู้เงินและไม่เคยมีเจตนาทำสัญญาจำนองกับจำเลยที่ 1 แต่นายสมดุลย์เคยนำใบมอบอำนาจที่ดินซึ่งยังไม่กรอกข้อความมาให้นางสาวอนงค์พรลงชื่อ ต่อมาได้ทราบว่ามีการไปจดทะเบียนจำนองที่ดิน แล้วนายสมดุลย์สมคบกับผู้ร้องหลอกลวงให้นางสาวอนงค์พรลงชื่อในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะผู้รับจำนองที่ดินลำดับหนึ่งให้แก่ผู้ร้อง การโอนสิทธิเรียกร้องไม่มีผลตามกฎหมาย เพราะสัญญาจำนองที่ดินลำดับหนึ่งไม่มีมูลหนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าสัญญาจำนองที่ดินลำดับหนึ่งระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางสาวอนงค์พรเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นโมฆะ ผู้ร้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องและบังคับจำนองหลังจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาว่าสัญญาจำนองลำดับหนึ่งดังกล่าวเป็นโมฆะและคดีถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีผลขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า นิติกรรมจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านได้ถูกเพิกถอนโดยเหตุที่เป็นโมฆะแล้วนิติกรรมดังกล่าวไม่มีผลตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจำนวน 10 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2524 จนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จก่อนเจ้าหนี้สามัญของจำเลยที่ 1 และก่อนโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองลำดับสอง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ยกคำร้องของผู้ร้อง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของผู้ร้องเด็ดขาด ขออนุญาตเข้าว่าความแทนผู้ร้องต่อไป ศาลชั้นต้นอนุญาต
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินนายสมดุลย์และจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้เป็นประกัน และนายสมดุลย์ได้ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับจำนองไว้แทนโดยนายสมดุลย์ได้มอบหมายให้ผู้คัดค้าน พนักงานในบริษัทของตนเป็นตัวแทนออกหน้าเป็นผู้รับจำนองแทน นายสมดุลย์ในฐานะตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อ ย่อมมีสิทธิที่จะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งผู้คัดค้านตัวแทนได้ทำไว้แทนตนได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806เมื่อนายสมดุลย์ดำเนินการให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นตัวแทนโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาจำนองลำดับหนึ่งให้แก่ผู้ร้องตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย ร.5 แล้ว ย่อมถือได้ว่านายสมดุลย์ตัวการได้โอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาจำนองลำดับหนึ่งนั้นให้แก่ผู้ร้องแล้วเช่นกัน ส่วนคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์และคำแก้ฎีกาของโจทก์ที่อ้างว่า การที่นายสมดุลย์แต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นตัวแทนของตนในการจดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 และการจัดการให้ผู้คัดค้านในฐานะผู้รับจำนองที่ดินไว้จากจำเลยที่ 1แทนนายสมดุลย์ โอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาจำนองให้แก่ผู้ร้องล้วนเป็นกิจการที่บังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการทั้งสองประการดังกล่าวจึงต้องทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายสมดุลย์เป็นตัวการมิได้เปิดเผยชื่อ การตั้งผู้คัดค้านเป็นตัวแทน ย่อมไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 วรรคหนึ่งและนายสมดุลย์ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อย่อมมีสิทธิกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งผู้คัดค้านตัวแทนได้ทำไว้แทนตนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806
ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า ผู้ร้องบอกกล่าวการรับโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยที่ 1 ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ 15746/2528 ว่าสัญญาจำนองลำดับที่หนึ่ง ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านไม่มีมูลหนี้ต่อกันเป็นโมฆะ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้จำนองเช่นว่านั้นจึงไม่มีสิทธิดีกว่าผู้คัดค้านผู้โอน นั้น เห็นว่าในคดีหมายเลขแดงที่ 15746/2528 ผู้ร้องมิได้เข้าเป็นคู่ความด้วยคำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันผู้ร้องคดีนี้ แม้ในคดีดังกล่าวศาลฟังว่า สัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านในฐานะส่วนตัวเป็นโมฆะ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่าผู้คัดค้านเป็นตัวแทนของนายสมดุลย์ซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ เมื่อนายสมดุลย์กลับแสดงตนเข้ารับเอาสัญญาโดยดำเนินการให้ผู้คัดค้านโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้จำนองลำดับหนึ่งให้แก่ผู้ร้องแล้ว ย่อมแสดงว่าผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้จำนองมาจากนายสมดุลย์หาใช่รับโอนมาจากผู้คัดค้านในฐานะส่วนตัวไม่ ดังนั้น แม้ว่าผู้ร้องจะบอกกล่าวการรับโอนไปยังจำเลยที่ 1 ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวแล้วก็ตาม การโอนสิทธิเรียกร้องนี้ย่อมมีผลสมบูรณ์
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของผู้ร้องและคำแก้ฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย ร.5 มีผลสมบูรณ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายสมดุลย์กู้ยืมเงินผู้ร้องไปประมาณ 10 ล้านบาทและออกเช็คชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง แต่เมื่อเช็คเริ่มเรียกเก็บเงินไม่ได้ประมาณ 1 ล้านบาท นายสมดุลย์ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ที่มีต่อจำเลยที่ 1 โดยมีสิทธิจำนองเป็นประกันลำดับหนึ่งจำนวน 10 ล้านบาท ให้แก่ผู้ร้องเพื่อชำระหนี้นั้น ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย ร.5 เห็นว่า แม้ว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย ร.5 จะระบุว่า “ผู้โอนตกลงโอนและผู้รับโอนตกลงรับโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาจำนองที่ดิน และมีอำนาจในการรับเงิน รับชำระหนี้สินแทนผู้โอนทุกประการ” หาได้มีข้อความระบุว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำแก้ฎีกาก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่านายสมดุลย์ประสงค์จะโอนหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตนให้ผู้ร้องเพื่อเป็นการชำระหนี้ จึงต้องถือว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ที่นายสมดุลย์มีต่อจำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งผลของการโอนย่อมเป็นไปตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือสิทธิจำนองลำดับหนึ่งที่มีต่อจำเลยที่ 1 อันได้จดทะเบียนไว้แล้วย่อมตกไปได้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนด้วย กรณีเช่นนี้ไม่อาจถือว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อันอยู่ในบังคับที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของนายวณิชชาพยานผู้ร้องว่า ทั้งผู้คัดค้านและโจทก์ต่างมอบอำนาจให้นายวณิชชาไปจดทะเบียนจำนองโดยให้นายวณิชชาจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านเป็นอันดับหนึ่ง และจดทะเบียนจำนองแก่โจทก์เป็นอันดับสอง โจทก์จึงย่อมทราบดีว่ามีผู้มีสิทธิจำนองดีกว่าตนตั้งแต่แรกแล้ว ผู้ร้องรับโอนหนี้จากผู้รับจำนองลำดับที่หนึ่งจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองก่อนโจทก์
อนึ่ง กรณีนี้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองก่อน จึงเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำนองโดยอาศัยสิทธิของเจ้าหนี้ผู้รับจำนองด้วยวิธีการพิเศษ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ดังนั้น ผู้ร้องจึงชอบที่จะได้รับชำระค่าฤชาธรรมเนียมในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองด้วย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ผู้ร้องได้รับชำระเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลจากเงินที่ขายทอดตลาดในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองลำดับหนึ่งก่อนเจ้าหนี้อื่นเว้นแต่ค่าทนายความทั้งสามศาล ให้โจทก์ใช้แทนผู้ร้องรวมเป็นเงิน7,500 บาท