แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อยแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญและไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการดังกล่าวด้วยต้นเองมาตั้งแต่ต้นทุกครั้งเพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกต่อกันไปเป็นทอด ๆเมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลยจำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้นและให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้ง อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวก แม้จะไม่มีการประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นการฉ้อโกง ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 แล้ว จำเลยกับพวกมิได้เป็นผู้รับอนุญาตให้จัดหางานมิได้เป็นกรรมการหุ้นส่วนหรือผู้จัดการของผู้ได้รับอนุญาตให้จัดหางานซึ่งเป็นนิติบุคคล ประกอบกับฟ้องโจทก์ที่บรรยายไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่ายังไม่มีตำแหน่งงานหรืออัตรางานในประเทศบาร์เรนตามที่โฆษณาชักชวนแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายอย่างจริงจังเป็นเพียงอุบายหลอกลวงอ้างเรื่องการจัดหางานเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมอบค่าบริการให้จำเลยเท่านั้นไม่ต่างกับการหลอกลวงโดยอ้างเหตุอื่น ๆ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 1 คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือ จำเลยกับพวกได้ร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานทั่วไป ซึ่งประสงค์จะทำงานในประเทศบาห์เรน โดยจำเลยกับพวกได้เรียกและรับเงินค่าบริการเป็นการตอบแทนจากคนหางานทั่วไปโดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จจริงโดยชักชวนประชาชนทั่วไปว่า มีตำแหน่งงานว่างต้องการคนไปทำงานที่ประเทศบาห์เรนหลายตำแหน่งจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 8,000 ถึง 15,000 บาท ผู้สมัครต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ15,000 บาท ถึง 25,000 บาท ให้จำเลยกับพวก ซึ่งความจริงจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่ายังไม่มีตำแหน่งงานหรืออัตรางานประเทศบาห์เรนตามที่โฆษณาชักชวน จากการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ประชาชนและผู้เสียหายหลงเชื่อสมัครใจไปทำงาน จำเลยกับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินค่าสมัครจากผู้เสียหายรวม 18 คน เพื่อประโยชน์ของจำเลยกับพวก โดยจำเลยกับพวกไม่ได้ส่งผู้เสียหายและคนอื่น ๆ ไปทำงานที่ประเทศบาห์เรน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 30, 82 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 341, 343 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายรวม 18 ราย เป็นเงิน 336,684 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 รวม 18 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้วจำคุก 9 ปี ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายแต่ละคนตามจำนวนดังนี้ นางสาวเพียง วาพัดไทย 22,000 บาทนางวัลไล ด๊ะศิริ 21,700 บาท นายสุเมธ อาดำ 115,500 บาทนายวีรพงศ์ อีสมาแอล 20,180 บาท นายสมศักดิ์ งามเจริญ16,528 บาท นายวิเชียร วงศ์สายมาลี 3,110 บาท นายตอเล็บ ยะไม16,228 บาท นายสง่า อับดุลลอห์ 15,000 บาท นายราเชนทร์มะลิวัลย์ 24,900 บาท นายสมาน อารีบี 20,180 บาท นายมูฮำหมัดหมัดโล๊ะ 16,228 บาท นายรอฮัม โซ๊ะ 20,180 บาท นายตอเย็บ ยะไม15,000 บาท นายอนันต์ หมัดรัง 20,180 บาท นางสาวอำพันธ์ม่วงสีตอง 18,730 บาท นายสมบัติ นาชะวี 16,630 บาท นายอารีมะหะหมัดยูซบ 16,730 บาท รวม 299,004 บาท คำขอให้จำเลยคืนเงินแก่นายซาฟีอี เกิดอยู่ ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาโดยจำเลยมิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่นฟังได้ยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้จัดหางานมิได้เป็นกรรมการหุ้นส่วนหรือผู้จัดการของผู้ได้รับอนุญาตจัดหางานซึ่งเป็นนิติบุคคล ระหว่างวันที่ 1มิถุนายน 2536 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2536 ผู้เสียหายทั้งสิบแปดเสียเงินค่าสมัครไปทำงานที่ประเทศบาห์เรนแต่ไม่ได้ไปเพราะไม่มีงานตามที่สมัครไว้ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ พยานโจทก์มีนายสุเมธ อาดำ นางสาวเพียง วาพัดไทย และนายวิเชียร วงศ์สายมาลีเบิกความว่า จำเลยชักชวนให้ไปทำงานที่ประเทศบาห์เรนและนัดให้ไปคุยกันที่แฟลตโอมา และมีผู้เสียหายอีก 15 คน เบิกความว่าได้ทราบข่าวว่าจำเลยรับสมัครคนงานไปทำงานที่ประเทศบาห์เรนจึงได้ไปติดต่อกับจำเลยที่แฟลตโอมา ผู้เสียหายทุกคนได้เสียเงินให้จำเลยและนายศจี โคมุด เป็นค่าหัว ค่าแปลเอกสารและค่าทำใบขับขี่สากลรายละ 8,000 บาท ถึง 25,000 บาท ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าจำเลยทราบข่าวจากนายมูเราะห์ เอี่ยมสำอางค์ ว่ามีงานทำที่ประเทศบาห์เรน และพาจำเลยไปพบนางศจีที่แฟลตโอมาจำเลยเสียเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้นางศจี 20,500 บาท ผู้เสียหายและคนอื่น ๆ ประมาณ 30 คน เมื่อรู้ข่าวได้ตามจำเลยไปสมัครด้วยเห็นว่า ผู้เสียหายทั้ง 18 คนต่างเบิกความยืนยันว่าได้สอบถามจำเลยเรื่องตำแหน่งงาน จำเลยว่ามีงานเลี้ยงไก่ ทำสวน ขับรถ เย็บผ้าและงานอื่น ๆ อีกหลายตำแหน่ง พร้อมทั้งบอกอัตราเงินเดือนที่จะได้รับในแต่ละตำแหน่ง ผู้เสียหายบางคนเช่น นางสาวอำพันธ์ ม่วงสีตองนายอาลี มะหะหมัดยูซบ ไม่มีหนังสือเดินทาง จำเลยก็พาไปทำหนังสือเดินทางให้ จำเลยไปตามนางสาวเพียง วาพัดไทย ที่บ้านอ้างว่ามีงานแม่บ้านเหลือ 2 ตำแหน่ง ให้รีบวางเงินและบอกนางวัลไลด๊ะศิริ ผู้เสียหายคนหนึ่งว่าไปแล้วไม่มีปัญหาอะไร หากไม่มีจะคัดชื่อออกเอาคนอื่นใส่แทน ผู้เสียหายทุกคนไม่เคยรู้จักนางศจีมาก่อน ได้มอบเงินค่าใช้จ่ายให้จำเลยและนางศจี เพราะเชื่อถือจำเลย เมื่อนายรอฮิม โซ๊ะ และนายวิเชียร วงศ์สายมาลี ขอถอนเรื่องและขอเงินคืน จำเลยบอกกับนายรอฮีมว่าอย่าถอนเลยอยากให้ไปเมื่อนายรอฮีมบอกว่าได้ตรวจสอบไปที่บริษัทเค.เอส.ที่จำเลยอ้างแล้ว บริษัทแจ้งว่าไม่มีงาน บริษัทไม่รู้เรื่องจำเลยว่ามีปัญหากับบริษัท ส่งงานเข้าบริษัทนี้ไม่ได้ต้องย้ายบริษัทใหม่ ส่วนนายวิเชียรนั้นจำเลยกับนางศจีคืนเงินให้ 17,000 บาท ยังขาดอยู่อีก 3,110 บาท เหตุเพราะนายวิเชียร จะแจ้งความ เมื่อจับจำเลยได้แล้ว ได้ความจากนายสมศักดิ์ งามเจริญ และสิบตำรวจโทวิรัตน์ เพิ่มภาค ว่าได้วางแผนให้จำเลยโทรศัพท์ไปบอกนางศจีว่าหาผู้ที่จะไปทำงานต่างประเทศได้ให้มารับวางเงินเพื่อจะจับนางศจีด้วย แต่จำเลยกลับบอกนางศจีว่าจำเลยถูกจับแล้ว ทำให้นางศจีหลบหนีเป็นที่เห็นได้ว่า ถ้าจำเลยเป็นเพียงผู้สมัครไปทำงานต่างประเทศด้วยคนหนึ่งดังที่จำเลยนำสืบก็คงจะไม่ยืนยันเรื่องงานให้ผู้เสียหายหลงเชื่อติดตามให้ผู้เสียหายมาวางเงิน รับเป็นธุระพาผู้เสียหายบางคนไปทำหนังสือเดินทางและร่วมรับเงินจากผู้เสียหายเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจวางแผนให้จำเลยโทรศัพท์ไปหานางศจีเพื่อจะจับกุม ซึ่งจะเป็นผลดีแก่จำเลยที่จะได้พิสูจน์ความจริงที่จำเลยอ้าง จำเลยกลับบอกให้นางศจีรู้ตัวและหลบหนีพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นฟังได้ว่า จำเลยได้ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายไปจริง ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าในจำนวนผู้เสียทั้งสิบแปดจำเลยชักชวนเพียง 2 คน ส่วนผู้เสียหายนอกจากนั้นต่างไปสมัครงานกันเองและที่แฟลตโอมาอันเป็นสถานที่รับสมัครงานไม่ปรากฏลักษณะเป็นสำนักงานที่ประกาศรับสมัครงานแก่ประชาชนทั่วไป พฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนนั้น เห็นว่า การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อยแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ และไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการดังกล่าวด้วยตนเองมาตั้งแต่ต้นทุกครั้งเพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกกันต่อไปเป็นทอด ๆเมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลย จำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้น และให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตโอมาทุกครั้ง อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวกแม้จะไม่มีประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ฎีกาของโจทก์ ในข้อนี้ฟังขึ้น ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยมีความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่าจำเลยกับพวกมิได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้จัดหางาน มิได้เป็นกรรมการหุ้นส่วนหรือผู้จัดการของผู้ได้รับอนุญาตให้จัดหางานซึ่งเป็นนิติบุคคล ประกอบกับฟ้องโจทก์ที่ได้บรรยายไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่ายังไม่มีตำแหน่งงานหรืออัตรางานดังกล่าวในประเทศบาห์เรนตามที่โฆษณาชักชวน แสดงให้เห็นว่าเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายอย่างจริงจัง เป็นเพียงอุบายหลอกลวงอ้างเรื่องการจัดหางานเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมอบค่าบริการให้จำเลยเท่านั้นไม่ต่างกับการหลอกลวงโดยอ้างเหตุอื่น ๆ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานนี้ ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 343 วรรคแรก แต่ส่วนกำหนดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่นายซาฟีอี เกิดอยู่ จำนวน20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์