คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 529/2480

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาซึ่งเป็นความผิดส่วนตัว ศาลล่างพิพากษาต้องกันให้ลงโทษ แม้ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง โจทก์ก็ขอถอนฟ้องภายในอายุความฎีกาได้ เพราะคดีชนิดนี้จะถึงที่สุดต่อเมื่อพ้นกำหนดอายุความฎีกา ในกรณีที่โจทก์ขอถอนฟ้องศาลเดิมแลศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ขอถอนฟ้องไม่ได้จึงสั่งยกคำร้องนั้น เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ขอถอนฟ้องได้ ก็สั่งให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องไว้ดำเนินการต่อไป

ย่อยาว

คดีนี้ศาลเดิมและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้จำคุกจำเลย ๖ เดือนฐานยักยอกตาม ม.๓๑๔
อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๗๘ วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๗๘ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยอ้างว่าได้ตกลงปราณีประนอมยอมความกัน ศาลสอบถามจำเลย ๆ ได้คัดค้านคำร้องนั้น ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์ทับสัตย์ศาลเดิมโดยอาศัยข้อเท็จจริง เมื่อยังไม่ยื่นฎีกาก็นับว่าคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ถอนฟ้องไม่ได้
ในวันเดียวกับที่ศาลเดิมสั่งยกคำร้องนั้นเอง จำเลยยื่นฎีกาศาลเดิมสั่งว่าฎีกาต้องห้าม จำเลยร้องอุทธรณ์คำสั่ง แต่ศาลฎีกาคงยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น
วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๔๗๙ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องขอถอนฟ้องศาลอุทธรณ์
คงพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คดีต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง จำเลยก็ยังมีโอกาศหาวิธีฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๒๑ ได้ในกำหนดอายุความฎีกา ฉะนั้นในระวาง ๑ เดือนนั้น จึงยังไม่เรียกว่าคดีถึงที่สุด ทั้งเทียบได้กับประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.๑๔๗ วรรค ๒ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ขอถอนฟ้องคดีได้ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ม.๓๕ ตอน ๒ จึงให้ศาลเดิมรับคำร้องของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป

Share