แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำชำเราด้วยความยินยอมของผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้วและเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา จึงมิใช่ข้อที่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การที่จะไม่ต้องรับโทษในความผิดที่กระทำโดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 277 วรรคสี่ แห่ง ป.อ. นั้น จะต้องได้ความว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้กระทำ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอมแล้ว แม้ภายหลังศาลจะอนุญาตให้จำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 สมรสกัน ก็ไม่เข้าเงื่อนไขในอันที่จะไม่ต้องรับโทษตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 317, 277, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม, 277 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 หลังเกิดเหตุจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงให้ลงโทษสถานเบา ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยความยินยอมของผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว และเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา จึงมิใช่ข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 และต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม การที่จำเลยจะไม่ต้องรับโทษในความผิดที่ได้กระทำโดยอาศัยบทบัญญัติของมาตรา 277 วรรคท้าย แห่ง ป.อ. นั้น จะต้องได้ความว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้กระทำและภายหลังจำเลยและผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสกัน แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอมแล้ว แม้ศาลจะอนุญาตให้จำเลยและผู้เสียหายที่ 2 สมรสกันในภายหลัง ก็ไม่เข้าเงื่อนไขแห่งบทบัญญัติดังกล่าวในอันที่จะไม่ต้องรับโทษ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการต่อไปมีว่า สมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 27 ปี นับว่าเป็นผู้มีวัยวุฒิและประสบการณ์ชีวิตสูงพอสมควร สามารถแยกแยะได้ดีว่าสิ่งใดถูกหรือผิด การที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อายุเพียง 14 ปีเศษ เป็นการล่วงละเมิดทางเพศแก่เด็กหญิง โดยหาได้คำนึงว่าการกระทำของตนจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและอนาคตของผู้เสียหายที่ 2 และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาผู้เสียหายที่ 2 อย่างไร พฤติการณ์ของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะปรานีจำเลยด้วยการรอการลงโทษจำคุก ส่วนโทษจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดนั้นก็เป็นโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จึงไม่อาจลดโทษให้แก่จำเลยได้อีก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.