คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12456-12457/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกมี 7 คน การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทต้องแบ่งกันตามที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับ การที่ทายาทอื่นมิได้เรียกร้องมาด้วยนั้น จะถือว่าทายาทอื่นนั้นสละมรดกหาได้ไม่และจะแบ่งโดยเอาส่วนแบ่งทายาทอื่นไปให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมไม่ได้ โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมคงได้ส่วนแบ่งคนละ 1 ใน 7 ส่วนเท่านั้น

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมการพิจารณาเป็นคดีเดียว โดยให้เรียกชื่อคู่ความทั้งสองสำนวนตามเดิม
โจทก์ทั้งสี่ฟ้อง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 1152 ระหว่างนายจันทร์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเต่าและนางเคน ผู้ให้สัญญากับนายจันทร์ ผู้รับสัญญา และให้จำเลยทั้งสามแบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ที่ 2 และที่ 4 คนละ 9 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา กับให้จำเลยทั้งสามคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 4 เพื่อดำเนินการแบ่งปันแก่ทายาทของนายเต่าและนายเคน และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 4 คนละ 275,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ขอถอนฟ้องทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นอนุญาต
นางแซว ยื่นคำร้องสอดขอให้แบ่งเงินที่นายจันทร์ได้จากการขายที่ดินมรดกให้ผู้ร้องสอดเป็นเงิน 275,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันร้องสอดเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ กับขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 1152 และให้จำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกดังกล่าวให้ผู้ร้องสอดจำนวน 7 ไร่ 63 ตารางวา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าร่วมเป็นโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง กับให้โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วม ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนแทนจำเลยทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 3,000 บาท
โจทก์ที่ 2 ที่ 4 และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินที่ได้จากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 35320 ให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมคนละ 275,000 บาท กับให้เพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1152 แล้วแบ่งเป็น 4 ส่วน โดยให้โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมคนละ 1 ส่วน ไม่เกินจากที่ขอ หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม หากไม่สามารถแบ่งที่ดินดังกล่าวได้ให้นำออกประมูลขายระหว่างทายาทหรือขายทอดตลาด แล้วนำเงินที่ได้มาชำระให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมตามส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า เจ้ามรดกมีบุตร 9 คน บุตร 2 คน คือนายลับกับนางเรียบถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกและไม่มีทายาท ส่วนนางเหลาถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกแต่มีโจทก์ร่วมเป็นผู้รับมรดกแทนที่สำหรับนางด้วงมารดาโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรเจ้ามรดกแต่ถึงแก่ความตายภายหลังที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งนายจันทร์เป็นผู้จัดการมรดก และในคดีดังกล่าวทายาทได้ตกลงกันว่า นายจันทร์ในฐานะผู้จัดการมรดกยอมแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1719 ให้แก่พี่น้องซึ่งเป็นหญิงรวม 4 คน เป็นเนื้อที่ 30 ไร่ และแบ่งแยกที่ดินซึ่งพี่น้องต่างครอบครองเป็นสัดส่วนให้แก่ผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินนอกจากที่ตกลงกันดังกล่าวให้ตกเป็นสิทธิของนายจันทร์ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2535 และวันที่ 4 มีนาคม 2536 คดีหมายเลขแดงที่ 59 และ 342/2533 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอบัวใหญ่) หลังจากนั้นนายจันทร์ได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และมารดาโจทก์ที่ 4 แล้ว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1152 และ 35320 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดก นายจันทร์ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนเป็นของตนเองเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2535 และได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1152 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 35320 นายจันทร์ได้ขายให้นางบังอรเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2538 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน และนายจันทร์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2538 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินที่ได้จากการขายที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมคนละ 275,000 บาท และแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1152 เป็น 4 ส่วน โดยให้โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมคนละ 1 ส่วน นั้น ปรากฏว่า คดีนี้มีทายาทที่จะรับมรดกรวม 7 คน แม้โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 และนางน้อยทายาทของเจ้ามรดกจะได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกไปบ้างตามข้อตกลงในรายงานกระบวนพิจารณาก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าทรัพย์สินทั้งสองรายการดังกล่าวเป็นมรดกด้วยการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทนั้นต้องแบ่งกันตามที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับ การที่ทายาทอื่นมิได้เรียกร้องมาด้วยนั้น จะถือว่าทายาทอื่นผู้นั้นสละมรดกหาได้ไม่ และจะแบ่งโดยเอาส่วนของทายาทอื่นผู้นั้นไปให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมไม่ได้ ดังนั้นโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมคงได้ส่วนแบ่งแต่เฉพาะส่วนของตนเพียงคนละ 1 ส่วน ใน 7 ส่วน เท่านั้น นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินที่ได้จากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 35320 จำนวน 1,100,000 บาท กับแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1152 ให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมคนละ 1 ส่วน ใน 7 ส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share