คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5281/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 มิได้บัญญัติว่าทางจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับทางสาธารณะโดยตรง ความมุ่งหมายสำคัญของมาตราดังกล่าวก็เพื่อให้ที่ดินที่ถูกล้อมอยู่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้เท่านั้น ดังนั้นการขอให้เปิดทางจำเป็น ปลายทางดังกล่าวหาจำต้องติดทางสาธารณะเสมอไปไม่
โจทก์ฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทโดยอ้างว่าเป็นทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยเพื่อผ่านออกไปสู่ที่ดินของ ช.ซึ่งเป็นทางที่ติดกับทางสาธารณะ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่สามารถใช้ที่ดินของ ช.ได้เพราะ ช. ไม่ยินยอมให้ใช้ เช่นนี้ทางพิพาทจึงไม่ใช่ทางจำเป็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๑๗๕ ตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นของนางพวง ต่อมาเทศบาลตัดซอยอ่อนนุชผ่านกลาง หลังจากนั้นนางพวงได้แบ่งเขตที่ดินส่วนที่อยู่ทางทิศใต้ซอยอ่อนนุชออกเป็น ๓ แปลง เรียงกันตามซอยอ่อนนุช ๑ คือที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๖๒๕, ๑๑๖๒๖, ๑๑๖๒๗ ตามลำดับ ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๖๒๕ ยกให้นางพิน โฉนดเลขที่ ๑๑๖๒๖ ยกให้นางจีบ ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๖๒๗ เป็นของนางพวงและต่อมาตกเป็นของนายชูศักดิ์ อัศวนนท์ ซึ่งได้ทำเป็นถนนทั้งแปลง ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๖๒๖ ได้แบ่งแยกออกเป็น ๕ แปลง เรียงเป็นลำดับจากซอยอ่อนนุช ๑ ลงมาทางทิศใต้ โจทก์ได้เป็นเจ้าของโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๑๖๒๖ เลขเดิมอยู่ทางใต้สุดส่วนจำเลยเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๑๕๗ ทางทิศเหนือของที่ดินโจทก์ ที่ดินโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ได้ขอร้องให้จำเลยเปิดทางในที่ดินจำเลยแต่จำเลยไม่ยอมเปิดทาง ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางในโฉนดดังกล่าวเพื่อออกสู่โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๑๖๒๗ อันเป็นทางสาธารณะ
จำเลยให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๑๕๗ ของจำเลยไม่ได้แยกออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๑๖๒๖ และที่ดินดังกล่าวก็มิได้ตกอยู่ในที่ล้อม มีทางออกสู่ทางคลองสาธารณะ โจทก์ไม่ได้ปลูกเรือนในที่ดินของโจทก์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การขอให้เปิดทางจำเป็นนั้น ปลายทางดังกล่าวหาจำต้องติดทางสาธารณะเสมอไปไม่ ทั้งนี้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๙ ไม่ได้บัญญัติว่าทางจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับทางสาธารณะโดยตรง ความมุ่งหมายสำคัญก็เพื่อให้ที่ดินที่ถูกล้อมอยู่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ไม่สามารถผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๖๒๗ ซึ่งเป็นทางของนายชูศักดิ์ออกสู่ทางสาธารณะได้เพราะนายชูศักดิ์ไม่ยินยอม แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๖๒๗ เป็นทางภาระจำยอม ก็เป็นทางภาระจำยอมของเจ้าของที่ดินแปลงอื่นหาได้ตกเป็นทางภาระจำยอมของโจทก์ เพราะผู้โอนที่ดินโฉนดเลขที่๑๑๖๒๖ ให้โจทก์และโจทก์ไม่เคยใช้ทางดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า แม้จำเลยจะเปิดทางพิพาทให้โจทก์ โจทก์ก็ไม่สามารถใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๙๒๗ ของนายชูศักดิ์ซึ่งอยู่ต่อจากทางพิพาทออกไปสู่ทางสาธารณะ คือซอยอ่อนนุช ๑ ได้ เช่นนี้ ทางพิพาทจึงไม่ใช่ทางจำเป็น
พิพากษายืน

Share