คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาจะเคยห้ามปรามจำเลยที่ 1ผู้เป็นบุตรผู้เยาว์ไม่ให้เอารถยนต์ไปใช้ และเก็บลูกกุญแจรถไว้เองโดยเก็บไว้ในที่สูงก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 รู้ที่เก็บและเคยเอารถออกไปขับ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถหาได้ใช้ความระมัดระวังในเรื่องนี้ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลไม่ถือว่าจำเลยที่ 2 นำสืบพิสูจน์หักล้างความรับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปชนรถโจทก์ที่ 1 เพราะจะรีบไปซื้อเนื้อตามที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้ไปซื้อและการไปซื้อเนื้อเพื่อทำเนื้อสะเต๊ะขายเป็นกิจการค้าของจำเลยที่ 3 ก็ตามการที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถโจทก์ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดในการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 เพราะมิใช่กิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่สาม จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดแก่โจทก์ที่ 1 58,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้ใช้เงิน 28,017 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบิดาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นพี่ภรรยาจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุ 19 ปียังเป็นผู้เยาว์ วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เพื่อไปซื้อเนื้อ เมื่อขับมาถึงสี่แยกกองพล 1 ซึ่งมีเครื่องสัญญาณไฟฟ้าควบคุมการเดินรถติดตั้งไว้ได้ชนกับรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ในบริเวณสี่แยกนั้น โดยจำเลยที่ 1 ขับรถมาด้วยความเร็วฝ่าสัญญาณไฟสีแดงให้รถหยุดรอออกไป ส่วนทิศทางที่รถโจทก์ที่ 1แล่นมามีไฟสัญญาณสีเขียวให้ผ่านไปได้ รถโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย และเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ซึ่งโดยสารมาในรถโจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บสาหัส ในการที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถโจทก์ที่ 1 นี้ ได้ถูกพนักงานอัยการศาลแขวงพระนครเหนือฟ้องต่อศาล และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 คดีถึงที่สุดแล้ว รายละเอียดปรากฏตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2449/2518 ของศาลแขวงพระนครเหนือ

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ที่ 2 เรียกค่าเสียหายไม่เกิน 50,000บาท คดีของจำเลยทั้งสามเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 6 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2

ส่วนปัญหาข้อเท็จจริงตามฎีกาของจำเลยทั้งสามเกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีที่ผู้เยาว์ทำละเมิด บิดามารดาย่อมต้องรับผิดร่วมกับผู้เยาว์ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น ดังบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429คดีนี้จำเลยที่ 2 ที่ 3 นำสืบว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้อาศัยอยู่ร่วมบ้านเรือนเดียวกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 แยกไปอยู่ที่อื่นก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 ปีแล้ว ก็มีแต่คำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งมีความเกี่ยวพันเป็นญาติกัน โดยจำเลยที่ 3เป็นพี่ภรรยาจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานอื่นสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ยังอยู่ร่วมบ้านเดียวกับจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า เคยห้ามปรามไม่ให้จำเลยที่ 1 เอารถไปใช้และเก็บลูกกุญแจรถไว้เองโดยเก็บไว้ในที่สูงนั้น ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ก็รู้เห็นว่าลูกกุญแจนี้เก็บไว้ที่ตรงไหนและเคยเอารถออกไปขับ ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุตรขับรถ หาได้ใช้ความระมัดระวังในเรื่องนี้ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลไม่ จึงถือว่าจำเลยที่ 2 นำสืบพิสูจน์หักล้างความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ จำเลยที่ 2 จำต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1

สำหรับปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 3 นั้น แม้จะฟังตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 และนายเฉลียว นิ่มเนียม หรือนิ่มน้อยพยานโจทก์ว่าการที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปชนรถโจทก์ที่ 1 นี้ เพราะรีบจะไปซื้อเนื้อตามที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้ไปซื้อ และการไปซื้อเนื้อเพื่อทำเนื้อสะเต๊ะขายเป็นกิจการค้าของจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถโจทก์ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดในการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 เพราะมิใช่กิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่สาม จำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำละเมิดในการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3

Share