คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5279/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยร่วมที่ 2 ถูกเรียกให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันพิพาท ซึ่งมีความรับผิดแตกต่างกับความรับผิดของจำเลยที่ 3 ที่จะต้องรับผิดในฐานะที่เป็นนายจ้างซึ่งจะต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้างในทางการที่จ้าง ดังนี้ มูลความแห่งคดีจึงเป็นกรณีที่มิได้เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้หรือมิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ดั่งนั้นโดยชัดแจ้ง อีกทั้งคดีนี้มีโจทก์ที่ 4 เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ส่วนการที่ศาลมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันนั้นก็เป็นเพียงเพื่อความสะดวกเท่านั้น จึงมิได้เป็นเหตุที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงมูลความแห่งคดีเกี่ยวกับการชำระหนี้ที่แบ่งแยกจากกันได้หรือไม่แต่ประการใด ดังนี้ เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 คงต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 4 เพียงผู้เดียวกรณีก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 4 ได้กระทำการแทนโจทก์อื่นด้วย โจทก์ที่ 4 ได้ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2เข้ามาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในคดีและได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยร่วมที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนในรถยนต์คันพิพาทต่อโจทก์ที่ 4 และโจทก์อื่นด้วยอีกทั้งยังมีการแถลงรับในชั้นสืบพยานของศาลชั้นต้นอีกว่าจำเลยร่วมที่ 2 จะต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยคนละไม่เกิน 50,000 บาท ต่อ 1 ครั้ง และศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยให้จำเลยร่วมที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 ต่อโจทก์อื่นอีกด้วย เช่นนี้ถือได้ว่าได้มีการหยิบยกปัญหาเรื่องการขอหมายเรียกของโจทก์ที่ 4 ขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2รับผิดเฉพาะต่อโจทก์ที่ 4 เพียงผู้เดียวโดยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อื่นด้วยชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14002/2537, 14003/2537, 14004/2537, 14006/2537และ 14006/25376 และ 14007/2537 ของศาลชั้นต้น โดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 โจทก์สำนวนที่สองว่าโจทก์ที่ 4 โจทก์สำนวนที่สามว่า โจทก์ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7โจทก์คดีนี้สำนวนที่สี่ว่า โจทก์ที่ 8 และที่ 9 โจทก์สำนวนที่ห้าว่า โจทก์ที่ 10 และโจทก์สำนวนที่หกว่า โจทก์ที่ 11แต่คดีทั้งห้าสำนวนดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2532 จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างและทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ร-0144กรุงเทพมหานคร นำโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ที่ 3 บุตรโจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 7 นายโพ ซิง เบ็ง สามีโจทก์ที่ 8 และเป็นบิดาของโจทก์ที่ 9 โจทก์ที่ 10 และนางสาวราณี พิมพ์พิพัฒน์บุตรโจทก์ที่ 11 ไปส่งที่จังหวัดระยองด้วยความเร็วสูงและประมาทเลินเล่อ เมื่อถึงที่เกิดเหตุมีลูกจ้างซึ่งกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน81-7737 ชลบุรี เลี้ยวกลับรถที่บริเวณดังกล่าวด้วยความเร็วสูงและประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกันทำให้โจทก์ที่ 1ถึงที่ 7 โจทก์ที่ 10 ได้รับบาดเจ็บ นายโพ ซิง เบ็ง และนางสาวราณีถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 8 ต้องเสียค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากนายโพ ซิง เบ็ง 100,000 บาท และ500,000 บาท ตามลำดับ โจทก์ที่ 9 ต้องขาดไร้อุปการะจากนายโพ ซิง เบ็ง 1,000,000 บาท จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 8 และที่ 9 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 110,000 บาทโจทก์ที่ 8 และที่ 9 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,710,000 บาท แก่โจทก์ที่ 8 และที่ 9 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 4 ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ซึ่งรับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ร-0144 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 และบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ซึ่งรับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 81-7737 ชลบุรี ของจำเลยที่ 3 เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 35,506 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 43,348 บาทโจทก์ที่ 3 จำนวน 69,284 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 198,192 บาทโจทก์ที่ 5 จำนวน 5,958 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 3,441 บาทโจทก์ที่ 7 จำนวน 6,460 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 560,000 บาทโจทก์ที่ 9 จำนวน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 111,660 บาทและโจทก์ที่ 11 จำนวน 311,230 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 5,000 บาท 10,000 บาท 20,000 บาท4,000 บาท 3,000 บาท 10,000 บาท 500,000 บาท 1,000,000 บาท20,000 บาท และ 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ตามลำดับนับแต่วันที่ 20 เมษายน 2532 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องแต่ละสำนวนกับให้จำเลยร่วมที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 รับผิดชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดแต่ละรายไม่เกิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กับให้จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสิบเอ็ด ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1ที่ 2 และจำเลยร่วมที่ 1
จำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ที่ 4 เพียงผู้เดียวในวงเงิน 50,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 8 และที่ 9 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 8 และที่ 9 ในประการแรกว่า ที่โจทก์ที่ 4ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 3 ด้วยนั้น จะถือได้หรือไม่ว่าเป็นการกระทำแทนโจทก์อื่นด้วย ปัญหาข้อนี้เห็นว่า จำเลยร่วมที่ 2 ถูกเรียกให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันพิพาทซึ่งมีความรับผิดแตกต่างกับความรับผิดของจำเลยที่ 3 ที่จะต้องรับผิดในฐานะที่เป็นนายจ้างซึ่งจะต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้างในทางการที่จ้าง ดังนี้ มูลความแห่งคดีจึงมิได้เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้หรือมิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ดังนี้โดยชัดแจ้ง อีกทั้งมีโจทก์ที่ 4 เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมด้วยและการที่ศาลมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันนั้นก็เป็นเพียงเพื่อความสะดวกเท่านั้นมิได้เป็นเหตุที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงมูลความแห่งคดีเกี่ยวกับการชำระหนี้ที่แบ่งแยกจากกันได้หรือไม่แต่ประการใด ดังนี้ จำเลยร่วมที่ 2 คงต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 4 เพียงผู้เดียว
คดีมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปอีกว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ที่ 8 และที่ 9 ฎีกาว่า จำเลยร่วมที่ 2 มิได้หยิบยกเรื่องการขอหมายเรียกของโจทก์ที่ 4 ขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น แต่กลับมีการหยิบยกขึ้นต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นการมิชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ที่ 4 ได้ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในคดีด้วย และได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยร่วมที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนในรถยนต์คันพิพาทต่อโจทก์ที่ 4 และโจทก์อื่นด้วย อีกทั้งยังมีการแถลงรับในชั้นสืบพยานของศาลชั้นต้นอีกว่าจำเลยร่วมที่ 2 จะต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยคนละไม่เกิน 50,000 บาท ต่อ 1 ครั้ง และศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยให้จำเลยร่วมที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 ต่อโจทก์อื่นอีกด้วยเช่นนี้ ถือได้แล้วว่าได้มีการหยิบยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share