แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ระหว่างเล่นแชร์กัน ลูกวงแชร์แต่ละคนต้องชำระเงินให้นายวงแชร์เพื่อรวบรวมไปให้ลูกวงแชร์ผู้ประมูลแชร์ได้ เมื่อมีการเลิกสัญญาเล่นแชร์กันแล้ว ทั้งนายวงแชร์และลูกวงแชร์ซึ่งถือว่าเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยในฐานะนายวงแชร์จึงยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการคืนเงินที่ลูกแชร์ผู้ประมูลได้แล้วคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่ลูกวงแชร์คนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ประมูลจนกว่าลูกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูลจะได้รับเงินคืนครบตามจำนวนที่มีสิทธิได้ เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับเงินคืนไม่ครบจำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ด
ย่อยาว
โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 180,984 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 180,984 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเจ็ด
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 27,698 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 9,306 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 9,598 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 13,098 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 13,098 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 12,098 บาท และโจทก์ที่ 7 จำนวน 40,014 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์แต่ละคนนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 มิถุนายน 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเจ็ด กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งเจ็ดโดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นนายวงแชร์ มีโจทก์ทั้งเจ็ดและบุคคลอื่นๆ เป็นลูกวงแชร์รวม 41 มือ มือละ 1,000 บาท มีการประมูลแชร์แล้ว 16 งวด โจทก์ทั้งเจ็ดยังไม่ได้ประมูล ครั้งถึงงวดที่ 17 โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ประมูลได้ แต่จำเลยรวบรวมเงินมาให้โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ จำเลยกับโจทก์ทั้งเจ็ดและลูกวงแชร์ทุกคนจึงตกลงกันให้ล้มเลิกวงแชร์โดยให้ลูกวงแชร์ที่ประมูลแชร์ได้แล้วเฉลี่ยเงินคืนให้แก่ลูกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล ซึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับเงินคืนมาบ้างแล้วเป็นบางส่วน ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ดหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อตกลงล้มเลิกวงแชร์กันแล้ว สัญญาการเล่นแชร์เป็นอันเลิกกัน หน้าที่ความรับผิดชอบของจำเลยในฐานะนายวงแชร์ที่มีต่อลูกวงแชร์จึงเป็นอันสิ้นสุดลงด้วย จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ดอีกต่อไป เห็นว่า ระหว่างเล่นแชร์กัน ลูกวงแชร์แต่ละคนต้องชำระเงินให้นายวงแชร์เพื่อรวบรวมไปให้ลูกวงแชร์ผู้ประมูลแชร์ได้ เมื่อมีการเลิกสัญญาเล่นแชร์กันแล้ว ทั้งนายวงแชร์และลูกวงแชร์ซึ่งถือว่าเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ลูกวงแชร์ผู้ประมูลแชร์ได้แล้วจะต้องคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่ลูกวงแชร์คนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ประมูลโดยมีนายวงแชร์ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการคืนเงินดังกล่าวจนกว่าลูกแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูลจะได้รับเงินคืนครบตามจำนวนที่มีสิทธิได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับเงินคืนไม่ครบ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่หลุดพ้นจากความรับผิดไปตามที่อ้างมาในอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินคืนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 27,698 บาท แก่โจทก์ที่ 7 จำนวน 40,014 บาท ทั้งๆ ที่ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับเงินค่าแชร์คืน 2 มือ รวม 16 งวด เป็นเงิน 32,000 บาท และมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยคืนมือละ 1,098 บาท รวม 2 มือ เป็นเงิน 2,196 บาท เมื่อรวมเงินค่าแชร์และดอกเบี้ยแล้วเป็นเงิน 34,196 บาท โจทก์ที่ 1 ได้รับเงินคืนไปแล้วเป็นเงิน 5,400 บาท โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับเงินคืนอีก 28,796 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินคืนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 27,698 บาท จึงไม่ถูกต้อง ยังขาดอยู่อีก 1,098 บาท สำหรับโจทก์ที่ 7 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 7 มีสิทธิได้รับเงินค่าแชร์คืน 3 มือ รวม 16 งวด เป็นเงิน 48,000 บาท และมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยคืนมือละ 1,098 บาท รวม 3 มือ เป็นเงิน 3,294 บาท เมื่อรวมเงินค่าแชร์และดอกเบี้ยแล้วเป็นเงิน 51,294 บาท โจทก์ที่ 7 ได้รับเงินคืนไปแล้ว 9,084 บาท โจทก์ที่ 7 จึงมีสิทธิได้รับเงินคืนอีก 42,210 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินคืนแก่โจทก์ที่ 7 จำนวน 40,014 บาท จึงไม่ถูกต้อง ยังขาดอยู่อีก 2,196 บาท เห็นว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 7 ดังกล่าว มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยในการคำนวณ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 28,796 บาท แก่โจทก์ที่ 7 จำนวน 42,210 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น