คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขอให้พิจารณาใหม่ในคดีแรงงาน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติ เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงต้องบังคับไปตามบทกฎหมายดังกล่าว ไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ได้
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ต่อศาลแรงงานว่ามิได้จงใจขาดนัด แต่เป็นเพราะจำเลยไม่ได้รับสำเนาคำฟ้องของโจทก์และจำเลยไม่คิดว่าโจทก์จะฟ้องจำเลย เนื่องจากก่อนมีการเลิกจ้างได้มีการตกลงเป็นที่เข้าใจกันแล้ว ถือได้ว่าจำเลยได้อ้างถึงความจำเป็นที่ไม่ได้มาศาลแล้ว เมื่อคำร้องของจำเลยได้ยื่นต่อศาลแรงงานกลางภายในกำหนด เจ็ดวันนับแต่วันที่จำเลยทราบคำบังคับ คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยจึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 41 แล้ว ศาลแรงงานต้องรับคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยไว้ดำเนินการ ไต่สวนต่อไป
คำร้องขอของจำเลยที่นำที่ดินมาวางเป็นประกันการทุเลาการบังคับคดีและให้ถอนการอายัดเงิน เป็นคำร้องที่ ป.วิ.พ. มิได้บัญญัติไว้ว่าให้ทำได้แต่ฝ่ายเดียว ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) บัญญัติห้ามมิให้ศาลทำคำสั่งในเรื่องนั้น โดยมิได้ให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสคัดค้านก่อน การที่ศาลแรงงานมีคำสั่งให้รับที่ดินหลักประกันของจำเลยและ ให้ถอนการอายัดเงินตามคำร้องขอของจำเลย โดยมิได้ให้โอกาสแก่โจทก์โต้แย้งคัดค้านเสียก่อน จึงขัดต่อบทกฎหมาย ดังกล่าวประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาพิพากษากับคดีหมายเลขแดงที่ 14376/2541 และ 14378 ถึง 14381/2541 ของศาลแรงงานกลาง แต่คดีทั้งห้าสำนวนดังกล่าวคู่ความตกลงประนีประนอมยอมความกันในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกาพิพากษาตามยอมคดีทั้งห้าสำนวนนั้นเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว คงเหลือเฉพาะคดีสำนวนนี้ที่ศาลฎีกาจะได้พิจารณาพิพากษาต่อไป
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้าง ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างค้างแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้าง 40,465 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ค่าชดเชย 156,636 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 22,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยให้คิดดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 6 สิงหาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อ้างว่าจำเลยไม่ได้จงใจขาดนัด ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าคำร้องของจำเลยไม่ได้บรรยายถึงรายละเอียดชัดแจ้งว่าเหตุใดจึงไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ไม่มีเหตุตามกฎหมาย ยกคำร้อง
โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีอายัดเงินในบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันรวม 2 บัญชีของจำเลย เป็นเงินทั้งสิ้น 828,980 บาท ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีและถอนการบังคับคดีที่อายัดเงินในบัญชีของจำเลยตามที่โจทก์อายัดไว้ โดยจำเลยนำที่ดิน น.ส.3 ก. ราคาประเมิน 855,000 บาท ซึ่งมีจำนวนเกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษามาวางเป็นประกันไว้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รับหลักประกันของจำเลยแล้วให้ทำสัญญาประกันไว้ กับให้ถอนการอายัดเงินตามที่จำเลยขอ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การขอให้พิจารณาใหม่ในคดีแรงงาน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามมาตรา 37 แล้วไม่มาตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบเหตุที่ไม่มา ให้ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด และพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว และมาตรา 41 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดตามมาตรา 40 วรรคสอง หากจำเลยมาแถลงให้ศาลแรงงานทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่ง ศาลแรงงานมีอำนาจไต่สวนถึงเหตุแห่งความจำเป็นนั้นได้ และหากเห็นเป็นการสมควร ให้ศาลแรงงานมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งตามมาตรา 40 และดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำหลังจากที่ได้มีคำสั่งตามมาตรา 40 นั้นใหม่เสมือนหนึ่งมิได้เคยมีกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้น ซึ่งเป็นกรณีที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงต้องบังคับไปตามบทกฎหมายดังกล่าว ไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ได้
คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ต่อศาลแรงงานกลางว่ามิได้จงใจขาดนัด แต่เป็นเพราะจำเลยไม่ได้รับสำเนาคำฟ้องของโจทก์และจำเลยไม่คิดว่าโจทก์จะฟ้องจำเลย เนื่องจากก่อนมีการเลิกจ้างได้มีการตกลงเป็นที่เข้าใจกันแล้ว ถือได้ว่าจำเลยได้อ้างถึงความจำเป็นที่ไม่ได้มาศาลแล้ว เมื่อคำร้องของจำเลยได้ยื่นต่อศาลแรงงานกลางภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่จำเลยทราบคำบังคับ คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 แล้ว ชอบที่ศาลแรงงานกลางจะต้องรับคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยไว้ดำเนินการไต่สวนต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งถอนการอายัดเงินตามคำร้องขอของจำเลยโดยมิได้ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และไม่ให้โอกาสโจทก์คัดค้านก่อน ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า คำร้องขอของจำเลยที่นำที่ดินมาวางเป็นประกันการทุเลาการบังคับคดีและให้ถอนการอายัดเงินเป็นคำร้องที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิได้บัญญัติไว้ว่าให้ทำได้แต่ฝ่ายเดียว ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) บัญญัติห้ามมิให้ศาลทำคำสั่งในเรื่องนั้นโดยมิได้ให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสคัดค้านก่อน ฉะนั้นที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รับที่ดินหลักประกันของจำเลยและให้ถอนการอายัดเงินตามคำร้องขอของจำเลยดังกล่าวโดยมิได้ให้โอกาสแก่โจทก์โต้แย้งคัดค้านเสียก่อน จึงขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าวประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลางที่ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยและคำสั่งที่ให้รับหลักประกันของจำเลยกับให้ถอนการอายัดเงินตามคำร้องของจำเลย ให้ศาลแรงงานกลางรับคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยไว้ดำเนินการต่อไป และดำเนินการให้โจทก์มีโอกาสคัดค้านคำร้องขอวางหลักประกันและถอนการอายัดเงินของจำเลย แล้วพิจารณาสั่งใหม่ตามรูปคดี.

Share