คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5255/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้นำเงินค่าปลูกป่าและบำรุงป่าไปฝากธนาคารในนามโจทก์ตามคำสั่งของกรมป่าไม้จำเลยที่2และโจทก์นำสมุดคู่ฝากเงินไปเก็บรักษาไว้ที่ป่าไม้จังหวัดน่านจำเลยที่4ซึ่งตามบันทึกต่อท้ายสัมปทานนั้นในการขอรับสมุดคู่ฝากเงินโจทก์ต้องเสนอแผนการปฏิบัติงานโดยย่อให้ป่าไม้เขตแพร่จำเลยที่3ทราบเมื่อได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่3แล้วจึงขอรับสมุดคู่ฝากเงินไปเบิกเงินจากธนาคารเพื่อนำไปใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทนตามเงื่อนไขสัมปทานเมื่อสิ้นสุดสัมปทานแล้วโจทก์ไม่เข้าไปปลูกป่าจำเลยที่2เข้าไปตรวจสอบเนื้อที่ที่โจทก์ค้างปลูกและค้างบำรุงรักษาป่าเป็นเงิน7,919,438.76บาทซึ่งปรากฏว่าสัมปทานทั้ง5ฉบับข้อ17และข้อ19กำหนดให้โจทก์ปลูกป่าและบำรุงป่าป้องกันไฟป่าและบำรุงรักษาต้นไม้ที่ขึ้นอยู่แล้วภายในระยะเวลาสัมปทานที่จำเลยที่2กำหนดด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์เองหลังจากโจทก์ได้รับสัมปทานทั้ง5ฉบับได้มีการทำบันทึกต่อท้ายสัมปทานโจทก์ชำระค่าปลูกป่าแล้วเพราะหากไม่ชำระโจทก์จะไม่ได้รับอนุญาตให้ชำระค่าภาคหลวงโจทก์ได้รับสัมปทานตั้งแต่ปี2516โจทก์ลงมือตัดไม้ตั้งแต่ปี2517การปลูกป่าเมื่อปลูกแล้วจะต้องบำรุงรักษาต่อไปอีก5ปีเป็นเช่นนี้เรื่อยไปทุกครั้งที่มีการปลูกป่าประกอบกับบันทึกต่อท้ายสัมปทานข้อ3ผูกพันโจทก์กล่าวคือโจทก์จะต้องปฏิบัติตามบันทึกต่อท้ายสัมปทานดังกล่าวโดยเสนอแผนการปฏิบัติงานโดยย่อให้จำเลยที่3ทราบเมื่อได้รับความยินยอมจากจำเลยที่3แล้วจึงขอรับสมุดคู่ฝากเงินไปเบิกเงินจากธนาคารเพื่อนำไปใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทนตามเงื่อนไขสัมปทานได้อีกประการหนึ่งตามบันทึกต่อท้ายสัมปทานดังกล่าวข้อ4ระบุด้วยว่าถ้าผู้รับสัมปทานฝ่าฝืนหรือปฏิบัติผิดไปจากบันทึกที่ให้ไว้นี้ให้ถือว่าผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัมปทานข้อ17และยินยอมให้ผู้ให้สัมปทานสั่งพักราชการทำไม้ไว้หรือสั่งเพิกถอนสัมปทานทำไม้เสียก็ได้และผู้รับสัมปทานยินยอมนำเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกและบำรุงรักษาป่าที่คำนวณได้จากไม้ที่ทำออกและตรวจวัดตีตราเก็บเงินค่าภาคหลวงแล้วส่งมอบให้จำเลยที่2หรือผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่2จนครบถ้วนด้วยดังนั้นแม้สัมปทานถูกเพิกถอนแล้วหากโจทก์ไม่ดำเนินการปลูกป่าจำเลยที่2มีสิทธิที่จะบังคับให้โจทก์ดำเนินการดังกล่าวต่อไปได้เมื่อโจทก์ค้างปลูกป่าและค้างค่าบำรุงป่าเป็นเงิน7,919,438.76บาทโจทก์ไม่ได้ดำเนินการตามบันทึกต่อท้ายสัมปทานข้อ3จำเลยทั้งสี่จึงมีสิทธิที่จะยึดสมุดคู่ฝากเงินของโจทก์ไว้เพื่อปฏิบัติตามบันทึกต่อท้ายสัมปทานดังกล่าวข้อ4ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภททบวงการเมืองจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นกรมในสังกัดจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4เป็นเจ้าพนักงานในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่1 มิถุนายน 2516 จำเลยที่ 1 ได้ให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดาจากไม้สักในเขตท้องที่จังหวัดน่านรวม 5 สัมปทานแก่โจทก์มีกำหนด30 ปี สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2546 พร้อมกันทุกสัมปทาน ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้ออกประกาศกำหนดให้ผู้รับสัมปทานทำการบำรุงป่าหรือปลูกสร้างสวนป่าตามคำสั่งและวิธีการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดและให้ผู้รับสัมปทานนำเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงป่าหรือปลูกสร้างสวนป่าไปฝากธนาคารในวันที่ชำระค่าภาคหลวงและนำสมุดคู่ฝากหรือบัญชีฝากเงินไปเก็บไว้ที่ป่าไม้เขตหรือป่าไม้จังหวัดแห่งท้องที่ป่านั้น ๆ ตามที่ป่าไม้เขตเห็นชอบเพื่อถอนมาใช้จ่ายในการบำรุงป่าหรือปลูกสร้างสวนป่าตามวิธีการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด จำเลยที่ 2 ได้สั่งการให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 สั่งให้โจทก์ปฏิบัติตาม ต่อมาเมื่อสัญญาสัมปทานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2532 การที่โจทก์จะต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานก็ดี การปลูกสร้างสวนป่าตามเงื่อนไขในสัมปทานก็ดีย่อมเป็นอันเลิกกันไปด้วย จำเลยทั้งสี่ต้องคืนสมุดคู่ฝากเงินธนาคารของโจทก์ทั้งสองเล่มให้โจทก์ แต่จำเลยทั้งสี่ไม่คืน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบสมุดคู่ฝากเงินธนาคารทหารไทยจำกัดสาขาน่าน สมุดบัญชีเลขที่ 8355 และสมุดคู่ฝากเงินธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาน่าน สมุดบัญชีเลขที่ 31260ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การว่า แม้ว่าสัมปทานทำไม้จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่โจทก์ยังปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัมปทานไม่ครบถ้วน ถือว่าโจทก์ปฏิบัติผิดข้อตกลงในสัมปทาน จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 จึงมีสิทธิยึดเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทนตามเงื่อนไขสัมปทานไว้ได้และมีอำนาจยึดสมุดคู่ฝากเงินไว้จนกว่าโจทก์จะปฏิบัติให้ครบถ้วนตามข้อตกลงในสัมปทานทั้งเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกป่า บำรุงป่า กับดอกเบี้ยของโจทก์ดังกล่าวก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้รับสัมปทานได้จ่ายไปเพื่อการทำกิจการที่ได้รับสัมปทานและยังไม่ได้รับผลประโยชน์กลับคืนตามความในพระราชบัญญัติกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พ.ศ. 2532มาตรา 68 สัตต (1)(ข) ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามมาตรา 68 ฉ แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอเรียกร้องเงินชดเชยตามความเสียหายจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกและบำรุงต้นไม้ตามสมุดคู่ฝากเงินทั้งสองเล่มตามมาตรา 68 อัฎฐ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยความเสียหายเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกและบำรุงต้นไม้กับดอกเบี้ยตามสมุดคู่ฝากเงินทั้งสองเล่ม นอกจากนี้ตามมาตรา 68 ฉ วรรคท้าย กำหนดว่า ในกรณีที่มีการสั่งตามมาตรา 68 ทวิหรือสัมปทานสิ้นสุดลงตามมาตรา 68 ตรี การเรียกร้องหรือการให้ค่าสินไหมทดแทนหรือเงินชดเชยเพื่อความเสียหายอย่างอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ จะกระทำมิได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที 2 ให้คืนสมุดคู่ฝากเงินทั้งสองเล่มแก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลย ที่ 3 ขาดนัด ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบสมุดคู่ฝากเงินธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาน่าน สมุดบัญชีเลขที่ 8355 และสมุดคู่ฝากเงินธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาน่านสมุดบัญชีเลขที่ 31260 ให้แก่โจทก์
จำเลย ที่ 2 และ ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาและคู่ความมิได้ฎีกาเป็นอย่างอื่นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน2516 โจทก์ได้รับสัมปทานทำไม้จากจำเลยที่ 1 รวม 5 สัมปทานสัมปทานละ 30 ปี สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2546 พร้อมกัน ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดให้ผู้รับสัมปทานทำการบำรุงป่าหรือปลูกสร้างสงวนป่าและให้นำเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงป่าหรือปลูกสร้างสงวนป่าไปฝากธนาคารในวันที่ชำระค่าภาคหลวงแล้วนำสมุดคู่ฝากเงินหรือบัญชีฝากเงินไปเก็บไว้ที่ป่าไม้เขตจำเลยที่ 3 หรือป่าไม้จังหวัดแห่งท้องที่ป่านั้น ๆ ได้แก่จำเลยที่ 4 ตามที่ป่าไม้เขตเห็นชอบเพื่อถอนออกมาใช้จ่ายในการบำรุงป่าหรือปลูกสร้างสวนป่าตามวิธีการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดซึ่งเป็นมาตรการในการควบคุมการใช้จ่ายเงินค่าปลูกและบำรุงป่าของผู้รับสัมปทานให้รัดกุมยิ่งขึ้นโจทก์นำเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงป่าซึ่งปลูกในปี 2517 ถึง 2531และค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้างสวนป่าในปี 2532 ไปฝากไว้ที่ธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาน่านและนำดอกเบี้ยของเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวเข้าฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาน่าน การเบิกเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวในแต่ละปีมี 3 งวดนอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังได้กำหนดแนวทางและวิธีการปลูกบำรุงป่า วิธีการป้องกันไฟป่าในเขตป่าสัมปทานให้โจทก์ปฏิบัติตามทั้งยังได้กำหนดขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติในการควบคุม และตรวจสอบและติดตามผลการปลูกป่าตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการปลูกป่าของผู้รับสัมปทานทำไม้ทั่วประเทศขึ้นด้วยการปฏิบัติงานปลูกสร้างและบำรุงป่าตามเงื่อนไขสัมปทานของโจทก์ตลอดเวลาเป็นไปตามเป้าหมายและแผนการดำเนินการดีพอสมควรจนกระทั่งวันที่ 17 มกราคม 2532 จำเลยที่ 1มีคำสั่งให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามทุกชนิดทุกสัมปทานสิ้นสุดลงก่อนอายุสัมปทาน ต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2532 โจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 3 ให้หยุดการทำไม้ หยุดการนำไม้เคลื่อนที่ออกจากสถานที่รวมหมอนไม้ทุกแห่งพร้อมกับให้เคลื่อนย้ายอุปกรณ์การทำไม้รวมทั้งคนงานทั้งหมดออกจากเขตป่าสัมปทาน และให้ปฏิบัติตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484พ.ศ. 2532 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ได้ดำเนินการบำรุงสวนป่าเดิม ซึ่งปลูกในปี 2527 ถึง 2531 งวดที่ 1 ไปแล้วคิดเป็นเงิน 594,237 บาทส่วนที่เหลือยังไม่ได้ดำเนินการและโจทก์ยังไม่ได้ปลูกสร้างสวนป่าในปี 2532 คิดเป็นเงิน 7,919,438.76 บาท โจทก์ขอสมุดคู่ฝากเงินทั้งสองเล่มคืน แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมคืนให้โดยอ้างว่าเงินตามสมุดคู่ฝาก ตกเป็นของจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืนคดีมีปัญหาในชั้นฎีกาตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยทั้งสี่มีสิทธิยึดสมุดคู่ฝากเงินของโจทก์ทั้งสองฉบับได้หรือไม่เห็นว่า โจทก์ได้นำเงินค่าปลูกป่าและบำรุงป่าไปฝากธนาคารในนามโจทก์ตามคำสั่งจำเลยที่ 2 และโจทก์นำสมุดคู่ฝากเงินไปเก็บรักษาไว้ที่จำเลยที่ 4 ซึ่งตามบันทึกต่อท้ายสัมปทานเอกสารหมาย ล.3ถึง ล.7 นั้น ในการขอรับสมุดคู่ฝากเงินโจทก์ต้องเสนอแผนการปฏิบัติงานโดยย่อให้จำเลยที่ 3 ทราบ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 3 แล้ว จึงขอรับสมุดคู่ฝากเงินไปเบิกเงินจากธนาคารเพื่อนำไปใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทนตามเงื่อนไขสัมปทาน เมื่อสิ้นสุดสัมปทานแล้วโจทก์ไม่เข้าไปปลูกป่า จำเลยที่ 2 เข้าไปตรวจสอบเนื้อที่ที่โจทก์ค้างปลูกและค้างบำรุงรักษาป่าเป็นเงิน7,919,438.76 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งปรากฏว่าสัมปทานทั้ง5 ฉบับ ข้อ 17 และข้อ 19 กำหนดให้โจทก์ปลูกป่าและบำรุงป่าป้องกันไฟป่าจะบำรุงรักษาต้นไม้ที่ขึ้นอยู่แล้วภายในระยะเวลาสัมปทานที่จำเลยที่ 2 กำหนดด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์เอง หลังจากโจทก์ได้รับสัมปทานทั้ง 5 ฉบับ ได้มีการทำบันทึกต่อท้ายสัมปทานตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.7 โจทก์ชำระค่าปลูกป่าแล้วเพราะหากไม่ชำระโจทก์จะไม่ได้รับอนุญาตให้ชำระค่าภาคหลวง โจทก์ได้รับสัมปทานตั้งแต่ปี 2516 โจทก์ลงมือตัดไม้ตั้งแต่ปี 2517 การปลูกป่าเมื่อปลูกแล้วจะต้องบำรุงรักษาต่อไปอีก 5 ปี เป็นเช่นนี้เรื่อยไปทุกครั้งที่มีการปลูกป่าประกอบกับบันทึกต่อท้ายสัมปทานเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.7 ข้อ 3 ผูกพันโจทก์กล่าวคือ โจทก์จะต้องปฏิบัติตามบันทึกต่อท้ายสัมปทานดังกล่าว โดยเสนอแผนการปฏิบัติงานโดยย่อให้จำเลยที่ 3 ทราบ เมื่อได้รับความยินยอมจากจำเลยที 3 แล้วจึงขอรับสมุดคู่ฝากเงินไปเบิกเงินจากธนาคารเพื่อนำไปใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทนตามเงื่อนไขสัมปทานก็ได้อีกประการหนึ่งตามบันทึกต่อท้ายสัมปทานดังกล่าวข้อ 4 ระบุด้วยว่า ถ้าผู้รับสัมปทานฝ่าฝืนหรือปฏิบัติผิดไปจากบันทึกที่ให้ไว้นี้ ให้ถือว่าผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ข้อ 17 และยินยอมให้ผู้ให้สัมปทานสั่งพักการทำไม้ไว้ หรือสั่งเพิกถอนสัมปทานทำไม้เสียก็ได้ และผู้รับสัมปทานยินยอมนำเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกและบำรุงรักษาป่าที่คำนวณได้จากไม้ที่ทำออก และตรวจวัดตีตราเก็บเงินค่าภาคหลวงแล้วส่งมอบให้จำเลยที่ 2 หรือผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 จนครบถ้วนด้วย จากข้อความดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้สัมปทานถูกเพิกถอนแล้วหากโจทก์ไม่ดำเนินการปลูกป่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิที่จะบังคับให้โจทก์ดำเนินการดังกล่าวต่อไปได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ค้างปลูกป่าและค้างค่าบำรุงป่าเป็นเงิน 7,919,438.76 บาท โจทก์ไม่ได้ดำเนินการตามบันทึกต่อท้ายสัมปทานเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.7 ข้อ 3 จำเลยทั้งสี่จึงมีสิทธิที่จะยึดสมุดคู่ฝากเงินของโจทก์ไว้เพื่อปฏิบัติตามบันทึกต่อท้ายสัมปทานดังกล่าวข้อ 4 ได้
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง

Share