คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5253/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องด้วยวาจาซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ.2499มาตรา19ให้ศาลบันทึกข้อความแห่งฟ้องไว้เป็นหลักฐานหาจำต้องบันทึกไว้โดยละเอียดไม่และก่อนศาลบันทึกฟ้องดังกล่าวศาลอาจจะสอบถามโจทก์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆที่จำเลยกระทำความผิดได้แต่ก็จะบันทึกไว้เฉพาะข้อความสำคัญส่วนบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฟ้องด้วยวาจาของโจทก์เท่านั้น ข้อความที่ศาลบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ประกอบกับบันทึกการฟ้องด้วยวาจาที่โจทก์ส่งต่อศาลได้ความว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกมีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดบนทางหลวงอันเป็นความผิดทั้งได้ระบุสถานที่ที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้และจำเลยก็ให้การรับสารภาพตามฟ้องแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีหาจำต้องระบุข้อเท็จจริงว่าเป็นทางหลวงสายใดไม่คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158(5) จำเลยมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 เวลากลางวันจำเลยขับรถยนต์บรรทุกชนิดลากจูงและรถพ่วงส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน80-2735, 2738 ตรัง บรรทุกแร่ยิปซั่มมีน้ำหนักยานพาหนะและน้ำหนักบรรทุก 59,400 กิโลกรัม เกินกว่ากฎหมายกำหนด 20,200กิโลกรัม อันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนดเดินบนทางหลวงลงวันที่1 กันยายน 2535 เหตุเกิดที่ตำบลเวียงสระ อำเภอเวียงสระจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติทางหลวงพ.ศ. 2535 มาตรา 4, 6, 61, 73, 75 ประกอบผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ ผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินและผู้อำนวยการทางหลวงสัมปทาน ลงวันที่ 1 กันยายน 2535
จำเลย ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง, 73 ลงโทษจำคุก3 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
จำเลย อุทธรณ์ ขอให้ รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องด้วยวาจาซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 ให้ศาลบันทึกข้อความแห่งฟ้องไว้เป็นหลักฐาน หาจำต้องบันทึกไว้โดยละเอียดไม่และก่อนศาลบันทึกฟ้องดังกล่าว ศาลอาจจะสอบถามโจทก์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่จำเลยกระทำความผิดได้ แต่ก็จะบันทึกไว้เฉพาะข้อความสำคัญส่วนบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฟ้องด้วยวาจาของโจทก์เท่านั้น เมื่อพิจารณาข้อความที่ศาลบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ประกอบกับบันทึกการฟ้องด้วยวาจาที่โจทก์ส่งต่อศาลแล้วได้ความว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 เวลากลางวัน จำเลยขับรถยนต์บรรทุกชนิดลากจูงและรถพ่วงส่วนบุคคลบรรทุกแร่ยิปซั่มมีน้ำหนักยานพาหนะและน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษเรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนดเกินบนทางหลวง ลงวันที่1 กันยายน 2535 ข้อ 9 ซึ่งเป็นการระบุข้อเท็จจริงที่อ้างว่า จำเลยได้กระทำแล้ว กล่าวคือ จำเลยขับรถยนต์บรรทุกมีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดบนทางหลวงอันเป็นความผิด ทั้งได้ระบุสถานที่ที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ และจำเลยก็ให้การรับสารภาพตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี หาจำต้องระบุข้อเท็จจริงว่าเป็นทางหลวงสายใดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
เมื่อคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยย่อมมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่จำเลยได้อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้วินิจฉัยในปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอีก และเห็นว่าสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและเป็นการป้องปรามมิให้จำเลยกระทำผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้อีกจึงเห็นสมควรลงโทษจำคุกและปรับ และคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง, 73 ลงโทษจำคุก 3 เดือนปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 1 เดือน 15 วันและปรับ 3,000 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ3 เดือนต่อหนึ่งครั้ง ตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ กับให้จำเลยละเว้นการประพฤติอันใดที่อาจนำสู่การกระทำผิดเช่นเดียวกันนี้อีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคหนึ่งและวรรคสองหากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

Share