คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5240/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น การที่จำเลยที่ 2 นำอาวุธปืนของกลางของมารดาจำเลยที่ 2 มาจากบ้านแล้วจำเลย ที่ 1 ใช้อาวุธปืนดังกล่าวกระทำผิดจ่อยิงผู้เสียหายที่ 1 และขณะที่พวกจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ไล่ติดตามผู้เสียหายทั้งสองนั้น จำเลยที่ 2 เป็นคนขับรถจักรยานยนต์โดยให้จำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย ดังนี้พฤติการณ์เป็นที่ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำผิด จำเลยที่ 2จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80 ประกอบด้วยมาตรา 86

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,83, 91, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าจำคุกคนละ 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด6 เดือน และฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 11 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 83 ลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานนี้กำหนด 5 ปี รวม 3 กระทง จำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 6 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 86 ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดตามมาตราดังกล่าวลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76ให้จำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 3 ปี 4 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 4 ปีจำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 2 ปี 2 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานโจทก์ขัดแย้งกันมีข้อพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่ได้ก็ดีจำเลยที่ 1 มิได้กระทำผิดก็ดี เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่าดังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1กระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยการที่จำเลยที่ 2 นำอาวุธปืนของกลางของมารดาจำเลยที่ 2 มาจากบ้านแล้วจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนดังกล่าวกระทำผิดจ่อยิงผู้เสียหายที่ 1 และขณะที่พวกจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ไล่ติดตามผู้เสียหายทั้งสองนั้น จำเลยที่ 2 เป็นคนขับรถจักรยานยนต์โดยให้จำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย ดังนี้ พฤติการณ์เป็นที่ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำผิด จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบด้วย มาตรา 86
พิพากษายืน กับให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 1

Share