คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5229/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นชี้สองสถานโดยจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าที่จำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น จำเลยทั้งห้าเพียงแต่ยกขึ้นกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่ปรากฏเหตุผลและรายละเอียดว่าขาดอายุความอย่างไร จึงไม่กำหนดประเด็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ให้ คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต่อมาจำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เพิ่มเติมด้วย ถือได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่กำหนดประเด็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่แล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องดังกล่าวว่า ไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงประเด็นที่ชี้สองสถานให้ยกคำร้อง จำเลยทั้งห้าไม่จำต้องโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นนี้อีกก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่กำหนดประเด็นดังกล่าวได้ แต่เมื่อการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 เป็นเรื่องกำหนดเวลาได้สิทธิ หาใช่เป็นเรื่องอายุความฟ้องร้อง คดีจึงไม่มีประเด็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ การกำหนดอัตราค่าทนายความต้องเป็นไปตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความเกินกฎหมาย ศาลฎีกาย่อมกำหนดใหม่ตามที่ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6411 และที่ดินหัวไร่ปลายนาของโจทก์ให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนบ้านเลขที่ 31/10 และเลขที่ 31 หมู่ที่ 3ตำบลสำนักบก อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ออกจากที่ดินของโจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ยอมรื้อถอน ให้โจทก์ดำเนินการรื้อถอนเองแล้วกองไว้ให้จำเลยทั้งห้าขนย้ายออกไปจากที่ดินด้วย และให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหายปีละ 2,500 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งห้าและบริวารออกจากที่ดินพิพาทตามระบุไว้ในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 ให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนบ้านเลขที่ 31 และ 31/10 หมู่ที่ 3 ตำบลสำนักบกอำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรีออกจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราไร่ละ 250 บาท ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งห้าและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 10,000 บาท
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาจำเลยทั้งห้าข้อแรกว่าจำเลยทั้งห้าได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่กำหนดประเด็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความไว้โดยชอบแล้วหรือไม่ หากจำเลยทั้งห้าได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้วคดีมีประเด็นเพิ่มว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2530 ปรากฏว่าศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็น 3 ข้อ และจดข้อความลงไว้ในรายงานด้วยว่าที่จำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น จำเลยทั้งห้าเพียงแต่ยกขึ้นกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่ปรากฏเหตุผลและรายละเอียดว่าขาดอายุความอย่างไร จึงไม่กำหนดประเด็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ให้ ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่กำหนดประเด็นดังกล่าวให้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แต่ต่อมาจำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นตามคำร้องลงวันที่ 18 มิถุนายน2530 ขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เพิ่มเติมด้วย ดังนี้ถือได้ว่า จำเลยทั้งห้าได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่กำหนดประเด็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่แล้วการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องดังกล่าวว่า ไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงประเด็นที่ชี้สองสถานตามคำร้องนี้ ให้ยกคำร้อง จำเลยทั้งห้าไม่จำต้องโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นในตอนหลังนี้อีก แต่อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยทั้งห้าได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่กำหนดประเด็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ไว้แล้ว อันเป็นเหตุให้จำเลยทั้งห้ามีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่กำหนดประเด็นดังกล่าวได้ก็ตามแต่จำเลยทั้งห้าฎีกาเกี่ยวกับปัญหานี้เพียงว่า จำเลยทั้งห้าให้การไว้ว่าจำเลยทั้งห้าได้ครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์โดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1382 แล้วนั้น เห็นว่าการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้นเป็นเรื่องกำหนดเวลาได้สิทธิ หาใช่เป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องที่จำเลยทั้งห้าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ฟ้องโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความได้ไม่ คดีจึงไม่มีประเด็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ฎีกาจำเลยทั้งห้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้มีทุนทรัพย์ 195,918 บาท ซึ่งตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติให้ศาลกำหนดค่าทนายความอัตราขั้นสูงสุดในศาลชั้นต้นใช้แทนกันไม่เกินร้อยละ 5 การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าทนายความเป็นเงิน 10,000 บาทแทนโจทก์ทั้งสี่ จึงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แม้จำเลยทั้งห้าจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาย่อมกำหนดใหม่ให้ถูกต้องได้”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าทนายความชั้นศาลชั้นต้น 9,000บาท และชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสี่

Share