คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5225/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อผู้ขายสละเจตนาครอบครองให้ผู้ซื้อ ผู้ซื้อก็ได้สิทธิครอบครองทันทีโดยไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ บิดาทำสัญญาขายที่ดินของบุตรผู้เยาว์โดยฝ่าฝืน ป.พ.พ.มาตรา 1574(1) สัญญาซื้อขายไม่มีผลผูกพันที่ดินของบุตร.

ย่อยาว

ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่โจทก์นำยึด อ้างว่าได้ซื้อมาจากจำเลยที่ 2และนางละออ ภูสุวรรณ
โจทก์ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 และเด็กหญิงละออภูสุวรรณ การซื้อขายระหว่างผู้ร้องขัดทรัพย์กับจำเลยที่ 2 เป็นการสมยอมกัน และไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จำเลยที่ 2 ขายที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องขัดทรัพย์ตามเอกสารหมาย ร.1 นั้น จำเลยที่ 2 ได้สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 ให้ผู้ร้องขัดทรัพย์แล้วตั้งแต่วันทำสัญญา ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้สิทธิครอบครองทันทีที่จำเลยที่ 2 สละเจตนาครอบครองส่วนของจำเลยที่ 2นี้และเป็นการโอนโดยข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1377, 1378 แล้วย่อมมีผลบังคับกันโดยไม่ต้องมีแบบอยู่ในตัวฉะนั้นการที่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็หาทำให้การซื้อขายที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ร.1 เป็นโมฆะไม่ …ส่วนที่จำเลยที่ 2 ขายที่ดินพิพาทให้แก่นางภู อาษา ตามเอกสารหมายร.3 และผู้ร้องขัดทรัพย์นำสืบว่า ต่อมานางภูได้ขายที่ดินส่วนนี้ซึ่งมีเนื้อที่ 3 ไร่ให้แก่ผู้ร้องขัดทรัพย์ในราคา 15,000 บาทแต่ไม่ได้ทำหลักฐานกันไว้เพราะเป็นญาติกันเพียงแต่นางภูมอบเอกสารหมาย ร.3 ให้ผู้ร้องขัดทรัพย์ไว้และผู้ร้องขัดทรัพย์ได้ครอบครองทำนาตลอดมา ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่าข้อนำสืบของผู้ร้องขัดทรัพย์ดังกล่าวรับฟังไม่ได้ ผู้ร้องขัดทรัพย์อุทธรณ์ในปัญหานี้แม้ศาลอุทธรณ์จะไม่ได้วินิจฉัยถึงปัญหานี้ ผู้ร้องขัดทรัพย์ก็มิได้ฎีกาคัดค้านปัญหานี้แต่อย่างไร จึงฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ สำหรับที่จำเลยที่ 2 ขายที่ดินพิพาทส่วนของเด็กหญิงละออ ตามเอกสารหมาย ร.4 นั้น เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (1) เมื่อผู้ร้องไม่นำสืบข้อเท็จจริงให้เห็นว่า ขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทส่วนของเด็กหญิงละออนั้น เด็กหญิงละออได้บรรลุนิติภาวะแล้วและได้ขายที่ดินเอกสารหมาย ร.4 ให้แก่ผู้ร้องขัดทรัพย์ เอกสารหมาย ร.4 จึงไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทส่วนของเด็กหญิงละออซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในขณะซื้อขายกัน… คดีจึงฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องขัดทรัพย์ทั้งแปลง คงฟังได้แต่เพียงว่าผู้ร้องขัดทรัพย์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 จากจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ร.1 เท่านั้น ผู้ร้องขัดทรัพย์จึงเป็นเพียงเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 และเด็กหญิงละออ ผู้ร้องขัดทรัพย์ไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ คงมีแต่สิทธิขอกันส่วนของตนออกมิให้ถูกบังคับชำระหนี้ให้โจทก์เท่านั้น”
พิพากษายืน.

Share