คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5220/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้เกิดเหตุแล้วโจทก์ยังสามารถสอนหนังสือได้แต่การที่โจทก์ต้องทุพพลภาพเป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงไปจึงทำได้แต่เพียงสอนหนังสืออย่างเดียวทั้งๆที่ความรู้ความสามารถของโจทก์สามารถก้าวหน้าไปในทางวิชาการและดำรงตำแหน่งผู้บริหารได้ถือได้ว่าโจทก์สูญเสียความสามารถประกอบการงานในอนาคตแล้วและการที่โจทก์ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ต้องรักษาตัวไปตลอดชีวิตไม่สามารถสมรสและมีบุตรได้อนาคตทางการงานไม่อาจเจริญก้าวหน้าไปตามปกติโจทก์ต้องได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสทั้งร่างกายและจิตใจไปตลอดชีวิตจึงได้รับค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าทุกข์ทรมานอีกส่วนหนึ่งด้วย หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา206ดังนั้นจำเลยที่1และที่2จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดแม้ค่าเสียหายบางส่วนจะเป็นค่าเสียหายในอนาคตก็ตาม จำเลยที่2มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่1ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุที่จำเลยที่2เป็นเจ้าของไปส่งของโดยจำเลยที่1ได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่2เป็นค่าตอบแทนในการทำงานเมื่อจำเลยที่1ขับรถยนต์บรรทุกตามคำสั่งของจำเลยที่2ไปชนโจทก์เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสถือได้ว่าจำเลยที่1ลูกจ้างได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างจำเลยที่2จึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2ได้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อส่วนบุคคลซึ่งจำเลยที่ 3 ได้รับประกันภัยค้ำจุนไว้ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาททำให้รถเสียการทรงตัวพุ่งข้ามเกาะกลางถนนชนรถยนต์ ที่โจทก์นั่งมาทำให้ผู้ขับรถยนต์เสียชีวิตและโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องจำนวน 2,408,371 บาท แก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 2,244,206 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เหตุแห่งคดีนี้มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1แต่ฝ่ายเดียว หากแต่เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์นั่งมาด้วย ส่วนค่ารักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ฟ้องมานั้นโจทก์เสียหายจริงเพียงไม่เกิน 237,000 บาท และการคิดดอกเบี้ยตามฟ้องไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบดอกเบี้ยคิดจากวันที่โจทก์ได้จ่ายเงินเป็นต้นไปไม่ใช่นับแต่วันทำละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อส่วนบุคคลที่โจทก์อ้างในฟ้อง จำเลยที่ 2ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ส่วนค่ารักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทนนั้น โจทก์เสียหายจริงเพียงไม่เกิน 150,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้เงินจำนวน 751,697 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2จ่ายเงินให้โจทก์เพิ่มอีก 817,093 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,568,790 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531 เวลาประมาณ17.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน81-2805 นครปฐม ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของในทะเบียนรถด้วยความประมาทเลินเล่อแล่นข้ามเกาะกลางถนนไปชนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 5จ-2716 ซึ่งแล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้นายประโชติ เปล่งวิทยา เจ้าของและผู้ขับ และนางสาวพรประภากาญจนรินทร์ ที่นั่งด้านหน้าคู่กับนายประโชติถึงแก่ความตายส่วนโจทก์ซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังทางขวาได้รับอันตรายสาหัส มีอาการอัมพาตตั้งแต่ส่วนคอลงมาตามใบรับรองแพทย์เอกสารหมาย จ.5ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ และค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด และปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยในเงินค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นับแต่วันกระทำละเมิดหรือไม่ จำเลยที่ 1และที่ 2 ฎีกาในข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุ และขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และมิได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างโจทก์มีนายสุริยนต์ เมืองปราน ขนส่งจังหวัดนครปฐมมาเบิกความประกอบเอกสารแสดงการจดทะเบียนหมาย จ.9 ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ยอมรับว่า จำเลยที่ 2 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุมาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2531และได้นำรถคันดังกล่าวมาจดทะเบียนประกอบการขนส่งประเภทส่วนบุคคลด้วยตามเอกสารหมาย จ.9 และ ป.จ.1 (ศาลจังหวัดนครปฐม) ลำดับที่ 10ดังนี้แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่า ให้นายอำนาจ แก้วเปลี่ยนเช่าซื้อรถคันดังกล่าวไปแล้วก็ตามแต่ก็ไม่ปรากฎว่า นายอำนาจชำระค่าเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วน และรับโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ยังเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และมิได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นในข้อนี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยในชั้นสอบสวนคดีส่วนอาญาจำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2และในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.21 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า เคยให้การชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.21 ว่าเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 สั่งให้บรรทุกของไปส่งให้แก่ลูกค้าในวันเกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนไปตามความจริงไม่มีใครขู่เข็ญ ส่วนจำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่าเคยให้การชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลจังหวัดนครปฐม)ว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าที่บางแคซึ่งคำให้การดังกล่าวถูกต้อง และยังตอบคำถามติงทนายจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุไปส่งของ เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 มีอำนาจสั่งงานจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 2 ตอบแทนในการทำงานพยานหลักฐานที่ปรากฎ เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำละเมิดไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2
ค่าเสียหายในส่วนที่มิใช่ตัวเงินได้แก่ ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสียโฉมและเสียบุคลิกภาพนั้น ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นหญิงสาวหน้าตาและบุคลิกภาพดี ตามภาพถ่ายหมาย จ.2 การที่ต้องกลายเป็นคนทุพพลภาพเป็นอัมพาตถาวร ย่อมทำให้เสียบุคลิกภาพเสียโอกาสในการสมรสและมีบุตรตามที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ ทั้งเมื่อพิเคราะห์ภาพถ่ายประกอบคำเบิกความของนายแพทย์พรชัยพยานโจทก์ซึ่งเบิกความตอบทสายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า โจทก์มีแผลเป็นที่กลางหน้าผากมองเห็นได้ในระยะ 5 เมตร และแผลเป็นที่ปากมองเห็นได้ในระยะ10 เมตร จึงฟังได้ว่าโจทก์เสียโฉมที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินส่วนนี้ให้ 180,000 บาท เหมาะสมแล้ว
ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสียความสามารถประกอบการงานในอนาคตแม้จะปรากฎว่าหลังจากเกิดเหตุแล้ว โจทก์ยังสามารถรับราชการเป็นอาจารย์สอนหนังสือได้ แต่ก็เป็นลักษณะที่ทางราชการอนุเคราะห์โดยถือเป็นเคราะห์กรรมที่มิใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์นำสืบว่าโดยปกติในการปฏิบัติงานของโจทก์ นอกจากสอนหนังสือแล้วยังต้องทำงานวิจัย ร่วมสัมมนา ทำงานบริหาร และควบคุมการปฏิบัติการแต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว คงทำได้แต่เพียงสอนหนังสืออย่างเดียวเพราะสภาพร่างกายเป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพ ได้แต่นั่งสอนไม่อาจออกไปเขียนกระดานและไม่อาจเข้าไปควบคุมในห้องปฏิบัติการได้เมื่อพิจารณาถึงคุณวุฒิการศึกษาของโจทก์ซึ่งเป็นถึงเภสัชศาสตร์มหาบัณฑิต ซึ่งแม้แต่นายสิทธิชัย แก้วกิติชัย คณบดีคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ก็มาเบิกความเป็นพยานจำเลยยืนยันว่า ความรู้ความสามารถของโจทก์ในการปฏิบัติราชการที่ผ่านมาสามารถก้าวไปในทางวิชาการเป็นถึงศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์ได้โดยเฉพาะงานในทางด้านบริหารแล้ว โจทก์มีความรู้ความสามารถที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าภาควิชาการต่อไปแต่ภายหลังเกิดเหตุแล้ว ความรู้ความสามารถของโจทก์ที่จะก้าวต่อไปก็ได้แต่เป็นอาจารย์เท่านั้น เจือสมที่โจทก์นำสืบและการสูญเสียความก้าวหน้าในอาชีพเพราะเหตุเสียความสามารถประกอบการงาน แม้จะยังทำการงานได้ โจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียความสามารถประกอบการงานในอนาคตได้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินส่วนนี้ให้ 350,000 บาท เหมาะสมแล้ว
ค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าทุกข์ทรมานนั้น ขณะเกิดเหตุโจทก์อายุเพียง 27 ปี หน้าตาดี ความรู้สูง มีโอกาสก้าวหน้าในการรับราชการอีกมาก แต่ต้องมาประสบอุบัติเหตุ ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ต้องตกเป็นคนทุพพลภาพเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิตไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แม้จะมีเงินสักเท่าใดก็ไม่อาจรักษาให้คืนคงสภาพเดิมได้ กลับต้องใช้เงินรักษาตัวและซื้อยากินไปจนตลอดชีวิต โจทก์ไม่สามารถสมรสและมีบุตรได้ อนาคตทางการงานก็ไม่อาจก้าวหน้าไปตามปกติโจทก์ย่อมได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสทั้งทางร่างกายและจิตใจไปจนตลอดชีวิตทรัพย์สินเงินทองจำนวนเท่าใด ก็ไม่อาจทดแทนความทุกข์ทรมานที่โจทก์ได้รับจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินในส่วนนี้ให้ 450,000 บาท นั้น นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยในเงินค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นับแต่วันกระทำละเมิดหรือไม่นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด เห็นว่า การที่ศาลกำหนดจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้นั้นมิใช่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตั้งแต่วันพิพากษา ศาลเป็นแต่กำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสียหายมาแล้วตั้งแต่วันทำละเมิดและกฎหมายก็บัญญัติไว้ให้ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดตั้งแต่วันทำละเมิดจึงต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ตั้งแต่วันทำละเมิด การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินก้อน แม้จะขอค่าเสียหายที่คำนวณในอนาคตเข้ามาด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในเงินค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทน1,568,790 บาท นับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2531 อันเป็นวันกระทำละเมิดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share