แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเลิกสัญญา คู่สัญญาจะกลับคืนสู่ฐานะเดิมกันอย่างไรนั้น ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป สำหรับข้าวที่โจทก์ได้รับมาจากจำเลย และค่าข้าวที่จำเลยได้รับชำระไปจากโจทก์เป็นทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งสัญญาที่คู่สัญญาได้รับไว้จากอีกฝ่ายหนึ่ง โจทก์และจำเลยจะต้องคืนให้แก่กันตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในเงินค่าข้าวที่จะต้องคืนให้แก่โจทก์ตามมาตรา 391 วรรคสอง ด้วย เงินค่าเช่าโกดังและค่ารักษาคุณภาพข้าวนั้นมิใช่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งสัญญาที่โจทก์และจำเลยรับไว้ตามสัญญาและหากได้มีการปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วน โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิจะเรียกร้องเอาคืนจากจำเลยได้ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาคืนจากจำเลย ทั้งค่าเช่าโกดังและค่ารักษาคุณภาพข้าวก็มิใช่การงานที่คู่สัญญาได้ทำให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสามค่าเช่าโกดังและค่ารักษาคุณภาพข้าวจึงตกเป็นพับแก่โจทก์เมื่อโจทก์ต้องเสียค่าเช่าโกดังและค่ารักษาคุณภาพข้าวระหว่างที่ข้าวยังเป็นของโจทก์เช่นนี้ก่อนโจทก์ส่งมอบข้าวให้แก่จำเลยโจทก์จึงต้องเสียค่าเช่าโกดังและค่ารักษาคุณภาพข้าวด้วย โจทก์เป็นฝ่ายผู้ซื้อ ตามปกติโจทก์จะชำระค่าข้าวด้วยเงินของโจทก์เอง หากโจทก์ไม่มีเงินและต้องไปกู้เงินบุคคลภายนอกซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยมาชำระก็เป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์โดยเฉพาะ หาเกี่ยวข้องกับจำเลยไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีเงินชำระค่าข้าวทั้งหมดให้จำเลย โจทก์จึงตกลงออกหนังสือรับรองให้จำเลยนำข้าวไปจำนำไว้แก่ธนาคารโดยโจทก์ ยินยอมเป็นผู้ชำระดอกเบี้ย ซึ่งถ้าหากมีการปฏิบัติตามสัญญาไปครบถ้วน โจทก์ก็หามีสิทธิเรียกเงินดอกเบี้ยนี้กลับคืนจากจำเลยไม่ และคดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินดอกเบี้ยได้ เมื่อจำเลยไม่ต้องคืนเงินดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วจำเลยไม่ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในเงินดอกเบี้ยเช่นว่านั้นให้แก่โจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ประกาศรับซื้อข้าวเพื่อเร่งรัดการส่งออกข้าวนาปีตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการที่จะยกระดับราคาข้าวเปลือกภายในประเทศ จำเลยได้ยื่นหนังสือเสนอขายข้าวต่อโจทก์โดยยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขตามข้อเสนอซื้อข้าวของโจทก์ทุกประการและโจทก์ได้แจ้งยืนยันการรับซื้อข้าวจากจำเลยรวม 9,104 ตัน โดยจำเลยส่งมอบข้าวครบภายในกำหนดทั้ง 3 ครั้ง และเรียกเก็บเงินร้อยละ 20ของราคาข้าวตามสัญญา ซึ่งโจทก์ได้ชำระให้เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 6 และ 15 พฤษภาคม 2530 จำนวน 2,415,318 บาท 2,163,898.80 บาทและ 2,839,000 บาท ส่วนที่เหลือโจทก์ยินยอมให้จำเลยนำข้าวไปจำนำและได้จ่ายค่าดอกเบี้ยในการจำนำข้าวให้แก่จำเลยไปแล้วรวม 6 ครั้งส่วนค่าเช่าโกดังกระสอบละ 1 บาท ต่อเดือน และค่ารักษาคุณภาพข้าวกระสอบละ 2 บาท ต่อเดือน โจทก์จ่ายให้จำเลยไปแล้วรวม 7 ครั้งครั้นวันที่ 11 เมษายน 2531 ทนายความจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ 3 ฉบับขอรับเงินค่าข้าวที่ค้างชำระภายใน 7 วัน มิฉะนั้นขอบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ โจทก์ได้รับหนังสือแล้ว แต่ไม่ได้ชำระเงินที่ค้างจึงถือว่าสัญญาซื้อขายข้าวเป็นอันยกเลิกมีผลให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิม ซึ่งจำเลยได้รับคืนข้าวที่ซื้อขายกันไปทั้งหมดแล้ว และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าข้าวที่ได้จ่ายไปแล้วร้อยละ 20 ค่าเช่าโกดัง ค่ารักษาคุณภาพข้าวและค่าดอกเบี้ยในการจำนำข้าวคืนทั้งหมดจำนวน 11,221,777.87 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยรับเงินไปจากโจทก์จนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2534คิดเป็นดอกเบี้ย 3,602,758.44 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น14,824,536.31 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน14,824,536.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน11,221,777.87 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ชำระเงินค่าข้าวส่วนที่เหลือร้อยละ 80 ภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือโจทก์ไม่ปฏิบัติตามโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิเลิกสัญญาซื้อขายข้าวได้ ซึ่งคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่โจทก์ไม่ยอมส่งมอบข้าวทั้งหมดตามสัญญาซื้อขายข้าวและหนังสือสัญญาค้ำประกันการซื้อขายคืนแก่จำเลย เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2531จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์เพื่อยันยันการบอกเลิกสัญญาซื้อขายข้าวครั้งที่ 10, 11 และ 12 อีกครั้งหนึ่ง โดยให้โจทก์ปล่อยแก้การผูกมัดผนึกตรากองข้าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือหากพ้นกำหนดดังกล่าวแล้วจำเลยจะปล่อยแก้การผูกมัดผนึกตรากองข้าวเองแต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าวอีก จำเลยจึงปล่อยแก้การผูกมัดผนึกตรากองข้าวเอง เป็นการรับข้าวกลับคืนสู่ฐานะเดิมและให้โจทก์รับเงินที่หักค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายแล้วจากจำเลย แต่โจทก์กลับไม่ยอมรับ ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัด เงินค่าข้าวที่จำเลยจะต้องจ่ายคืนแก่โจทก์เท่ากับจำนวนที่จำเลยรับจากโจทก์โดยหักค่าใช้จ่ายและค่าเสียหาย โจทก์จะคิดดอกเบี้ยเงินจำนวนดังกล่าวในกรณีที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่ได้ จำเลยไม่ต้องชำระเงินตามที่โจทก์เรียกร้อง เนื่องจากโจทก์มิได้ชำระค่าข้าวให้จำเลยเต็มจำนวน ดังนั้น ในส่วนค่าข้าวที่เหลืออีกร้อยละ 80 โจทก์ยอมรับภาระค่าดอกเบี้ยในการจำนำข้าวให้จำเลย อันเป็นการผูกพันตามสัญญาถือว่าเป็นการงานอันได้กระทำขึ้นและเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์ โจทก์จะเรียกร้องเงินค่าดอกเบี้ยที่โจทก์ได้จ่ายไปก่อนเลิกสัญญาและกลับคืนสู่ฐานะเดิมไม่ได้ การชำระค่าดอกเบี้ยในการจำนำข้าวให้แก่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยความสมัครใจของโจทก์เองโจทก์ไม่มีสิทธิให้จำเลยชดใช้เงินในส่วนค่าดอกเบี้ยในการจำนำข้าวส่วนค่าเช่าโกดังกระสอบละ 1 บาท และค่าใช้จ่ายในการรักษาคุณภาพข้าวกระสอบละ 2 บาท เป็นค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการงานที่จำเลยกระทำให้แก่โจทก์ และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์ด้วยการเช่าตามสัญญา โจทก์ชอบที่จะชดใช้เงินค่าตอบแทนตามสมควรกับการงานที่จำเลยกระทำและให้เช่าทรัพย์ในระหว่างสัญญามีผลบังคับ ดังนั้น เมื่อสัญญาเลิกโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย หากจำเลยจะต้องคืนเงินแก่โจทก์จำเลยจะต้องคืนเงินที่รับไว้จากโจทก์โดยหักค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายจึงเหลือเงินที่รับจากโจทก์ในครั้งที่ 12 เป็นเงินจำนวน1,308,416.85 บาท ครั้งที่ 11 จำนวน 1,682,796.32 บาท และครั้งที่ 10 จำนวน 2,242,220.36 บาท รวมเงินคงเหลือทั้งสิ้น5,233,433.53 บาท การเลิกสัญญาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการที่จำเลยไม่ได้รับการจัดสรรแบ่งในการขายข้าวให้แก่โจทก์ตามสต๊อกและประวัติการส่งออกข้าวของจำเลย โดยโจทก์ได้นำส่วนแบ่งที่จำเลยมีสิทธิได้รับไปจัดสรรให้แก่ผู้ค้าข้าวรายอื่นคิดเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 4,264,487.88 บาท และค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันเนื่องจากโจทก์ไม่คืนหนังสือค้ำประกันจำนวน 27,160.20 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินคืนจำนวน 8,487,479.51 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน7,418,216.80 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 30 ตุลาคม 2534) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินจำนวน10,468,623.36 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่าเมื่อวันที่ 11, 18 และ 27 มีนาคม 2530 โจทก์ทำสัญญาซื้อข้าวจากจำเลยรวมจำนวน 9,104 ตัน โดยจำเลยยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของโจทก์จำเลยได้ส่งมอบข้าวให้แก่โจทก์และรับเงินค่าข้าวร้อยละ 20 ไปจากโจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 6 และ 15 พฤษภาคม 2530 สำหรับค่าข้าวที่เหลือโจทก์ตกลงออกหนังสือรับรองให้จำเลยนำไปจำนำไว้แก่ธนาคารพาณิชย์และจำเลยได้จำนำกับรับเงินมาเรียบร้อยแล้ว โจทก์ยินยอมเป็นผู้เสียค่าเช่าโกดังเก็บข้าวและค่ารักษาคุณภาพข้าวรวมกระสอบละ3 บาท ต่อเดือน กับค่าดอกเบี้ยในการจำนำข้าวส่วนที่เหลืออีกร้อยละ80 เมื่อครบกำหนด 6 เดือน โจทก์จะชำระค่าข้าวให้แก่จำเลยอีกร้อยละ 30 และครบกำหนด 1 ปี จะชำระให้อีกร้อยละ 50 แต่ปรากฎว่าเมื่อครบกำหนดชำระค่าข้าวทั้งสองคราวแล้ว โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระค่าข้าวให้แก่จำเลยจำเลยจึงบอกเลิกสัญญาและขอกลับคืนสู่ฐานะเดิม
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า ในการกลับคืนสู่ฐานะเดิมนี้นอกจากโจทก์และจำเลยจะต้องคืนข้าวและเงินค่าข้าวให้แก่กันแล้วคู่สัญญาจะต้องรับผิดต่อกันอย่างไรบ้าง เห็นควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์และของจำเลยไปพร้อมกัน โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า เมื่อเลิกสัญญากันแล้วคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนมิได้เคยทำสัญญากันไว้ ดังนั้นโจทก์จึงเรียกค่าเช่าโกดังและค่ารักษาคุณภาพข้าวคืนจากจำเลยได้ปัญหาข้อนี้เห็นว่า การเลิกสัญญาคู่สัญญาจะกลับคืนสู่ฐานะเดิมกันอย่างไรนั้นต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป สำหรับข้าวที่โจทก์ได้รับมาจากจำเลยและค่าข้าวที่จำเลยได้รับชำระไปจากโจทก์เป็นทรัพย์สิน อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาที่คู่สัญญาได้รับไว้จากอีกฝ่ายหนึ่ง โจทก์และจำเลยจะต้องคืนให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งซึ่งจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในเงินค่าข้าวที่จะต้องคืนให้แก่โจทก์ตามมาตรา 391 วรรคสอง ด้วย สำหรับเงินค่าเช่าโกดังและค่ารักษาคุณภาพข้าวที่โจทก์เรียกจากจำเลยนั้นมิใช่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งสัญญาที่โจทก์และจำเลยรับไว้ตามสัญญาและเห็นว่าหากได้มีการปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วน โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิจะเรียกร้องเอาคืนจากจำเลยได้ เมื่อคดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเองแล้ว โจทก์จะเรียกร้องเอาคืนจากจำเลยได้อย่างไร โจทก์ซื้อข้าวมาแล้วข้าวย่อมเป็นของโจทก์ โจทก์ต้องหาที่เก็บและรักษาคุณภาพข้าวอันเป็นเรื่องปกติที่เจ้าของทรัพย์สินจะต้องทำและเสียค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง ทั้งค่าเช่าโกดังและค่ารักษาคุณภาพข้าวก็มิใช่การงานที่คู่สัญญาได้ทำให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสามค่าเช่าโกดังและค่ารักษาคุณภาพข้าวจึงตกเป็นพับแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ต้องเสียค่าเช่าโกดังและค่ารักษาคุณภาพข้าวระหว่างที่ข้าวยังเป็นของโจทก์เช่นนี้ ก่อนโจทก์ส่งมอบข้าวให้แก่จำเลย โจทก์จึงต้องเสียค่าเช่าโกดังและค่ารักษาคุณภาพข้าวด้วย
โจทก์ฎีกาข้อที่สองว่า จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยของเงินดอกเบี้ยในการจำนำข้าวให้แก่โจทก์ด้วย ส่วนจำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงินดอกเบี้ยในการจำนำข้าวให้แก่โจทก์ สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยจะต้องคืนเงินดอกเบี้ยในการจำนำข้าวให้แก่โจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นฝ่ายผู้ซื้อตามปกติโจทก์จะชำระค่าข้าวด้วยเงินของโจทก์เองหากโจทก์ไม่มีเงินและต้องไปกู้เงินบุคคลภายนอกซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยมาชำระก็เป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์โดยเฉพาะ หาเกี่ยวข้องกับจำเลยอย่างใดไม่ คดีนี้โจทก์ไม่มีเงินชำระค่าข้าวทั้งหมดให้จำเลย โจทก์จึงตกลงออกหนังสือรับรองให้จำเลยนำข้าวไปจำนำไว้แก่ธนาคารโดยโจทก์ยินยอมเป็นผู้ชำระดอกเบี้ย ซึ่งถ้าหากมีการปฏิบัติตามสัญญาไปครบถ้วนโจทก์ก็หามีสิทธิเรียกเงินดอกเบี้ยนี้กลับคืนจากจำเลยแต่อย่างใดไม่คดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินดอกเบี้ยได้อย่างไร หากเป็นเช่นนั้นจะกลายเป็นว่ากรณีโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิดีกว่ากรณีที่โจทก์ไม่ผิดสัญญาซึ่งเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมา เห็นว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงินดอกเบี้ยในการจำนำข้าวให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ต้องคืนเงินดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในเงินดอกเบี้ยเช่นว่านั้นให้แก่โจทก์
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงินดอกเบี้ยงวดที่ 12จำนวน 691,111.78 บาท ให้แก่โจทก์ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้เห็นว่า เงินดอกเบี้ยจำนวน 691,111.78 บาท เป็นเงินดอกเบี้ยในการจำนำข้าวซึ่งโจทก์ต้องชำระตามที่ได้วินิจฉัยในฎีกาข้อที่สองของโจทก์ซึ่งจำเลยหาต้องรับผิดต่อโจทก์แต่อย่างใดไม่ด้วยเหตุนี้จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น