คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1043/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่1เป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีและจำเลยที่2ดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจนครบาล7มีนบุรีต่างมีอาชีพรับราชการจำเลยที่1เป็นแต่เพียงผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่2ตามสายการบังคับบัญชาเท่านั้นหากจำเลยที่1จะขับรถยนต์ให้จำเลยที่2บ้างก็น่าจะเป็นครั้งคราวตามอัธยาศัยและการที่จำเลยที่1ขับรถยนต์ของจำเลยที่2อาสาไปส่งจำเลยที่4ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีนั้นก็เป็นเรื่องเอื้อเฟื้อส่วนตัวของจำเลยที่1ข้อเท็จจริงเช่นนี้จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่2จำเลยที่2จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ที่1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมุทร เซ็นเชาวนิช ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือโจทก์ที่ 3 และที่ 4 นายสมุทรถึงแก่กรรมด้วยเหตุรถยนต์ชนกันเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2530 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นสามีภรรยากันและเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ข-4376 กรุงเทพมหานคร ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1เมาสุราขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และมีจำเลยที่ 4 นั่งไปด้วยไปตามถนนรามคำแหงถึงบริเวณปากซอยคุ้มราษี จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเสียหลักแล่นเข้าไปในช่องเดินรถด้านขวามือ ซึ่งขณะนั้น นายสมุทรได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4ข-6748 กรุงเทพมหานครของตนและโจทก์ที่ 2 แล่นสวนทางมารถยนต์ทั้งสองคันจึงชนกันและเป็นเหตุให้นายสมุทรนายเพิ่ม สุรินทร์ และนางสาวขนิษฐา สุรินทร์ ซึ่งนั่งอยู่เบาะหลังได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา โจทก์ที่ 2 ซึ่งนั่งอยู่ตอนหน้าคู่กับนายสมุทรได้รับอันตรายสาหัส จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสี่เรียกร้องนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสี่ พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ข-4376 กรุงเทพมหานครในทางการที่จ้างหรือเพื่อประโยชน์หรือเพื่อธุรกิจของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทั้งในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้ใช้ ผู้วาน หรือร่วมครอบครองดูแลการใช้รถยนต์คันดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1ได้ถือวิสาสะลักลอบขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7ข-4376กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 ออกสู่ถนนสาธารณะโดยพลการเพื่อไปยังสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี บังเอิญจำเลยที่ 4 ประสงค์จะไปสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีเช่นกัน จึงขอโดยสารไปด้วยจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและด้วยความระมัดระวัง เมื่อรถยนต์แล่นถึงทางโค้งที่เกิดเหตุยางล้อหน้าขวาได้ระเบิดขึ้นเป็นเหตุให้รถยนต์เสียหลักถลาไปทางด้านขวาในช่องเดินรถสวนอย่างกะทันหัน สุดที่จำเลยที่ 1จะบังคับได้ ในจังหวะเดียวกันนายสมุทรได้ขับรถยนต์แล่นสวนทางมาด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันชนกัน จากสถานการณ์ตามพฤติการณ์ดังกล่าวไม่ว่าจำเลยที่ 1 หรือใครก็ไม่อาจป้องกันได้เหตุในคดีจึงเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ค่าเสียหายของโจทก์ไม่ถึงจำนวนที่ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่กองมรดกของโจทก์ที่ 1 จำนวน 243,000 บาทโจทก์ที่ 2 จำนวน 408,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 1,000 บาทและโจทก์ที่ 4 จำนวน 98,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 2ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 10,834.75 บาท รวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 จำนวน 378,834.75 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกอุทธรณ์จำเลยที่ 1และที่ 2 สำหรับโจทก์ที่ 3 ยกฟ้อง จำเลยที่ 2
โจทก์ ทั้ง สี่ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เหตุรถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงคดีสำหรับโจทก์ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 แต่ละคนมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 คงวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในปัญหานี้ แต่เนื่องจากได้มีการสืบพยานกันมาเสร็จสิ้นแล้วและเพื่อมิให้คดีต้องล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีกในปัญหาดังกล่าวโจทก์มีนายสรรค์ชัย ชญานินิ เป็นพยานเบิกความว่าพยานได้พูดคุยกับนายดาบตำรวจแอ๊ด คำบ่อ ทราบว่ารถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับในวันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 3 ปกตินายดาบตำรวจแอ๊ดจะเป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปทำธุระให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ในวันเกิดเหตุนายดาบตำรวจแอ๊ดติดธุระจึงให้จำเลยที่ 1 ขับแทน ปกติจำเลยที่ 1 จะขับรถยนต์กระบะซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อีกคันหนึ่ง เนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกิจการรับจ้างถมดินแถวมีนบุรี โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์นำเบี้ยเลี้ยงไปจ่ายให้คนงานและดูแลงานถมดินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อเดือนมิถุนายน 2531 จำเลยที่ 1มาติดต่อขอชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 พยานได้พูดคุยกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 รับว่าได้ขับรถยนต์กระบะให้จำเลยที่ 2 จริงโดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 1,500 บาท วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 พาแขกไปเลี้ยงอาหารที่ร้านอาหารหนึ่ง นายดาบตำรวจแอ๊ดไม่ว่างจำเลยที่ 1 จึงขับรถยนต์คันเกิดเหตุแทนโดยจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวตามจำเลยที่ 2 ไปที่ร้านอาหารหนึ่ง และได้ร่วมรับประทานอาหารและดื่มสุราจนกระทั่งเวลา 15 นาฬิกา จำเลยที่ 1จึงขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปส่งจำเลยที่ 4 โดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 3 และให้ดูงานถมดินด้วย จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 1รับราชการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีนครบาลมีนบุรี จำเลยที่ 2รับราชการตำแหน่งรองผู้กำกับการตรวจนครบาล 7 มีนบุรี จำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แต่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาตามสายงานของจำเลยที่ 2 ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุผ่านมาทางหน้าสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีจะไปงานเลี้ยงที่ร้านอาหารหนึ่งพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ขอโดยสารรถไปร้านอาหารหนึ่งด้วยและอาสาขับรถให้ เมื่อถึงร้านอาหารหนึ่งก็เข้าไปรับประทานอาหารร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจอื่น ๆ หลายคนจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้คืนกุญแจรถยนต์ให้จำเลยที่ 2 ต่อมาเวลาประมาณ 15 นาฬิกาขณะที่ยังรับประทานอาหารกันอยู่จำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานตำรวจว่าเกิดเหตุรถยนต์ชนกัน เมื่อไปยังที่เกิดเหตุจึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ไปประสบอุบัติเหตุ เห็นว่าพยานโจทก์มีแต่คำเบิกความของนายสรรค์ชัยทนายความของโจทก์ที่ 1มาเบิกความลอย ฯ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ทั้งเป็นพยานบอกเล่าจึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนพยานจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 1 และที่ 2เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2ทั้งขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความทนายความของโจทก์ที่ 1 ก็มิได้ถามค้านจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในเรื่องที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1รับจ้างจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์และได้ค่าจ้างเดือนละ 1,500 บาท มิได้ถามค้านในเรื่องเกี่ยวกับกิจการที่จำเลยที่ 2 รับจ้างถมดินจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีและจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจนครบาล 7 มีนบุรีต่างมีอาชีพรับราชการ จำเลยที่ 1 เป็นแต่เพียงผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ตามสายการบังคับบัญชาเท่านั้น หากจำเลยที่ 1จะขับรถยนต์ให้จำเลยที่ 2 บ้างก็น่าจะเป็นครั้งคราวตามอัธยาศัยและการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ไปส่งจำเลยที่ 4ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีก็ได้ความจากจำเลยที่ 4 ว่าจำเลยที่ 1 อาสาไปส่งเอง จึงเป็นเรื่องเอื้อเฟื้อส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตามรูปเรื่องและพฤติการณ์ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 พยานโจทก์ที่ 1 มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ฎีกานอกจากนี้ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน สำหรับโจทก์ที่ 1 ให้ยกฎีกาของโจทก์ที่ 2 ที่ 2และที่ 4

Share