คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ไม่มีกฎหมายใดบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายเดือนในวันสิ้นสุดของเดือน มิฉะนั้นจะไม่ถือว่าเป็นการจ่ายค่าจ้าง และตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 47 วรรคหนึ่งทุกครั้งที่นายจ้างจ่ายค่าจ้าง นายจ้างต้องหักค่าจ้างส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมโดยไม่มีเงื่อนไขไม่ว่าการจ่ายค่าจ้างนั้นจะได้กระทำเมื่อใด ทั้งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับนายจ้างกำหนดให้จ่ายค่าจ้างเดือนละครั้งทุกวันที่ 25 ของเดือนหากตรงกับวันหยุดให้จ่ายค่าจ้างก่อนวันหยุดนั้น ปรากฏว่าวันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์2544 เป็นวันหยุด นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ให้โจทก์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 การที่จ่ายค่าจ้างในวันดังกล่าวจึงไม่ใช่การจ่ายค่าจ้างล่วงหน้า เมื่อนายจ้างได้หักค่าจ้างของโจทก์เพื่อส่งเป็นเงินสมทบแล้วในวันเดียวกันจึงต้องถือว่าโจทก์ได้จ่ายเงินสมทบเดือนกุมภาพันธ์ 2544 แล้วตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์2544 โจทก์จึงเป็นผู้ประกันตนที่ได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน ตามเงื่อนไขในมาตรา 65 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรซึ่งตลอดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544
โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรเหมาจ่ายจำนวน 4,000บาท ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 66 ประกอบประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ลงวันที่ 30 มีนาคม 2538 และมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเป็นการเหมาจ่ายร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามมาตรา 57 เป็นเวลา 90 วันตามมาตรา 67 เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท จึงมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวจำนวน 22,500 บาท เป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดจำนวนไว้แน่นอน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย ย่อมเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าจำเลยจะต้องชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2543 ตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการลงทุน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน หากตรงกับวันหยุดจะจ่ายค่าจ้างก่อนวันหยุดนั้น โดยนายจ้างหักค่าจ้างเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2543 จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งเป็นวันที่นายจ้างได้จ่ายค่าจ้างประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2544 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์ได้คลอดบุตรและได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรต่อจำเลยที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 จำเลยโดยสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 มีคำสั่งที่ รส 0724/22347ปฏิเสธการจ่าย อ้างว่าโจทก์จ่ายเงินสมทบมาแล้วน้อยกว่า 7 เดือน โจทก์อุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 1064/2544 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ เพราะโจทก์ได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วครบ 7 เดือน ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ รส 0728/22347 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1064/2544 และให้จำเลยจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรตามกฎหมายให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า การคำนวณค่าจ้างเพื่อการออกเงินสมทบให้ถือเอาค่าจ้างที่คิดเป็นรายเดือน การนับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 7 เดือน ที่จะก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์ทดแทน จึงต้องพิจารณาเงื่อนเวลาควบคู่กับเงินสมทบที่จ่ายแล้วคือต้องล่วงพ้นเงื่อนเวลา 7 เดือนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย จึงจะเกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีนี้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544โจทก์คลอดบุตรเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 ยังไม่ครบเงื่อนเวลา 7 เดือน ตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 ที่ รส 0728/22347 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1064/2544ให้จำเลยจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างรายเดือนของบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัดมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2543 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างเดือนละครั้งทุกวันที่ 25 ของเดือน หากวันจ่ายตรงกับวันหยุดจะจ่ายค่าจ้างก่อนวันหยุดนั้น นับตั้งแต่โจทก์เข้าทำงาน โจทก์ถูกนายจ้างหักค่าจ้างเป็นเงินสมทบส่งเข้ากองทุนประกันสังคมเรื่อยมาทุกเดือน และในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 นายจ้างได้จ่ายค่าจ้างและหักค่าจ้างโจทก์เป็นเงินสมทบเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 เหตุเพราะวันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นวันหยุด ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์2544 โจทก์คลอดบุตรและได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรจากจำเลยแต่จำเลยปฏิเสธการจ่าย มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรเพราะได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน ตามเงื่อนไขในมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แล้วหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวจำเลยอุทธรณ์ว่า เงินสมทบต้องเป็นเงินที่นายจ้างหักจากค่าจ้าง การจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง นายจ้างจ่ายค่าจ้างเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ให้โจทก์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 เงินที่นายจ้างหักไว้จึงไม่ใช่เงินสมทบ จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้จ่ายเงินสมทบเดือนกุมภาพันธ์ 2544 แล้ว เห็นว่า ไม่มีกฎหมายใดบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายเดือนในวันสิ้นสุดของเดือน มิฉะนั้นจะไม่ถือว่าเป็นการจ่ายค่าจ้าง และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้นายจ้างหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามจำนวนที่ต้องนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนตามมาตรา 46 และเมื่อนายจ้างได้ดำเนินการดังกล่าวแล้วให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างหักค่าจ้าง” ซึ่งหมายความว่าทุกครั้งที่นายจ้างจ่ายค่าจ้าง นายจ้างต้องหักค่าจ้างของลูกจ้างส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าการจ่ายค่าจ้างนั้นจะได้กระทำเมื่อใด ทั้งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับนายจ้างกำหนดให้จ่ายค่าจ้างเดือนละครั้งทุกวันที่ 25 ของเดือนหากตรงกับวันหยุดให้จ่ายค่าจ้างก่อนวันหยุดนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าวันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นวันหยุด นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ให้โจทก์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์2544 การที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในวันดังกล่าวจึงไม่ใช่การจ่ายค่าจ้างล่วงหน้า เมื่อนายจ้างได้หักค่าจ้างของโจทก์เพื่อส่งเป็นเงินสมทบแล้วในวันเดียวกัน จึงต้องถือว่าโจทก์ได้จ่ายเงินสมทบเดือนกุมภาพันธ์ 2544 แล้วตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์จึงเป็นผู้ประกันตนที่ได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน ตามเงื่อนไขในมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรเหมาจ่ายจำนวน4,000 บาท ตามมาตรา 66 ประกอบประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ลงวันที่ 30 มีนาคม 2538 และมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเป็นการเหมาจ่ายร้อยละ 50ของค่าจ้างตามมาตรา 57 เป็นเวลา 90 วัน ตามมาตรา 67 เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท จึงมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวจำนวน 22,500 บาท เป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดจำนวนไว้แน่นอน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย ย่อมเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าจำเลยจะต้องชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใดไม่จำต้องแก้ไข”

พิพากษายืน

Share