แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การท้ากันในศาล คือ การแถลงร่วมกันของคู่ความตกลงกันให้ ศาลตัดสินชี้ขาดตามข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างที่คู่ความมีความเห็นตรงกันข้ามในเหตุการณ์ภายหน้าอันไม่แน่นอนและจะแน่นอนได้ต่อเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งถ้าเหตุการณ์นั้นตรงกับความเห็นของฝ่ายใด ศาลจะต้องตัดสินให้ฝ่ายนั้นชนะ
ศาลชั้นต้นกะประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งห้ามีสิทธิในบริเวณที่ดินพิพาทดีกว่ากัน คู่ความไม่ประสงค์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานไปตามปกติ แต่จะยอมรับข้อเท็จจริงกันตามที่เจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขตมาแล้วหากปรากฏว่าหลักหมุด จ.1078ล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนของจำเลย โจทก์จะเป็นฝ่ายแก้ไขโฉนดให้มา ในแนวตรงที่วัดระหว่างหลักหมุดค.4463กับหลักหมุดคก.5หรือหลักหมุด ค.4483 แต่ถ้าหากหลักหมุด จ.1078 ไม่ได้ล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลย จำเลยจะรื้อถอนรั้วที่ล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ แล้วคู่ความจะเลิกคดีกัน โดยโจทก์จะถอนฟ้องและจำเลยไม่คัดค้าน ซึ่งตามคำฟ้อง คำให้การและ ฟ้องแย้งและคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ปัญหาว่าหลักหมุด จ.1070 อยู่ใน ที่ดินของโจทก์หรือจำเลยเป็นข้อเท็จจริงที่จะทำให้คดีแพ้ชนะกันใน ประเด็นข้อพิพาท ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นคำท้าตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 มีผลใช้บังคับได้ เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการมาตามข้อตกลงแล้ว ศาลชั้นต้นก็ต้องวินิจฉัยชี้ขาดไปตามนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนเสารั้วคอนกรีตและลวดหนามที่ฝ่ายจำเลยทั้งห้าปักรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ให้นำไปปักในแนวเขตที่ดินของโจทก์และของจำเลยทั้งห้าระหว่างจุดหลักหมุดที่ 1070 ตรงไปยังหลักหมุดที่ 4483 ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน นับแต่มีคำพิพากษา ห้ามจำเลยทั้งห้าและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทและเพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ซึ่งออกโดยมิชอบเสีย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งห้าตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4 เมษายน 2539 ไม่ใช่คำท้าแต่เป็นข้อตกลงเพื่อนำไปสู่การเจรจาประนีประนอมยอมความเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ตกลงยินยอมศาลจึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐานจนสิ้นกระแสความเพื่อนำมาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ส่วนประเด็นข้อพิพาทที่ว่าโจทก์หรือจำเลยทั้งห้ามีสิทธิในบริเวณที่ดินพิพาทดีกว่ากัน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ พิพากษาให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนเสาคอนกรีตและลวดหนามออกจากที่ดินของโจทก์ให้อยู่ในแนวเขตที่ดินระหว่างหลักหมุดที่ จ.1070 (1078) ตรงไปยังหลักหมุดที่ ค.4483 (คก.5) ห้ามจำเลยทั้งห้าและบริวารเข้าเกี่ยวข้องที่ดินของโจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งห้า
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ข้อตกลงตามรายงานกระบวนการพิจารณาลงวันที่ 4 เมษายน 2539 เป็นคำท้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 138 ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิพากษาในเรื่องคำท้าตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4เมษายน 2539 ตามรูปคดีใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยในข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งห้าตามรายงานกระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 4 เมษายน 2539 เป็นคำท้าหรือไม่ รายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวมีข้อความว่า “นัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ยโจทก์ ทนายโจทก์จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทนายจำเลยทั้งห้ามาศาล คู่ความเจรจาได้ข้อสรุปใหม่ว่าขอให้นำเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพะเยาไปทำการรังวัดที่ดินพิพาทใหม่ส่วนที่จำเป็นเท่านั้น ทั้งนี้เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าว คู่ความจะร่วมกันไปติดต่อให้ไปทำการรังวัดและตกลงว่าจะให้เจ้าพนักงานที่ดินคนใดที่คู่ความเห็นว่าเป็นคนกลางทำการรังวัดเป็นผู้ดำเนินการให้ โดยจะเสียค่าธรรมเนียมกันฝ่ายละครึ่ง โดยขอให้ศาลมีหนังสือประสานงานไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพะเยาให้คู่ความร่วมกันรับไปส่งเอง โดยให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบหลักหมุดที่ ค.4431 ฟ.4294 ค.4463 คก.5หรือหลักหมุด ค.4483 เป็นหลักโดยให้ใช้หลักหมุดที่ ค.4431 กับ ฟ.4294เป็นพื้นฐานในการรังวัดองศาไปสู่หลักหมุดที่ ค.4463 พุ่งตรงไปสู่หลักหมุดคก.5 หรือหลักหมุด ค.4483 ตามที่ปรากฏในแผนที่พิพาทฉบับรังวัดวันที่ 21 มีนาคม 2538 ทั้งนี้ให้ถือองศาตามโฉนดเลขที่ 2257 เลขที่ดิน 1ของฝ่ายจำเลยทั้งห้าเป็นเกณฑ์ หากลากเส้นตรงจากหลักหมุดที่ ค.4463ตรงไปถึงหลักหมุด คก.5 หรือหลักหมุด ค.4483 ในโฉนดของจำเลยทั้งห้าแล้ว ปรากฏว่าหลักหมุด จ.1078 ล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยทั้งห้าฝ่ายโจทก์จะเป็นฝ่ายแก้ไขโฉนดให้มาอยู่ในแนวตรงที่วัดระหว่างหมุดทั้งสองดังกล่าวแต่หากหลักหมุด จ.1078 ไม่ได้ล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนของจำเลยทั้งห้าคู่ความจะเลิกคดีกันโดยฝ่ายโจทก์จะถอนฟ้องและฝ่ายจำเลยทั้งห้าไม่คัดค้านและจะรื้อถอนรั้วที่ล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนของโจทก์ ขออนุญาตเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อพิจารณาต่อไป” ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์คำแถลงของคู่ความแล้วเห็นว่าคดีมีทางตกลงกันได้ด้วยดี จึงอนุญาตให้เลื่อนไปนัดพร้อมในวันที่ 24เมษายน ศกนี้ เวลา 7 นาฬิกา โดยให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือส่งไปประสานงานกับเจ้าพนักงานที่ดินวันนี้ ส่วนรายละเอียดการดำเนินการให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับนี้ โดยให้ทำสำเนาภาพถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาแนบไปท้ายหนังสือดังกล่าว ให้คู่ความรับไปส่งเอง”ซึ่งหลังจากนั้นต่อมาในวันที่ 22 สิงหาคม 2539 ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาไว้ความตอนหนึ่งว่า “เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกไปทำการรังวัดตามคำสั่งศาลแล้วเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2539 ศาลได้ให้โจทก์และทนายจำเลยตรวจดูแผนที่การรังวัดดังกล่าวแล้วปรากฏว่าโจทก์และจำเลยไม่อาจตกลงกันได้ ดังนั้นจึงให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ให้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 29 ตุลาคม 2539 เวลา 9 นาฬิกา” เห็นว่า การท้ากันในศาลก็คือการแถลงร่วมกันของคู่ความตกลงกันให้ศาลตัดสินชี้ขาดตามข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างที่คู่ความมีความเห็นตรงกันข้ามในเหตุการณ์ภายหน้าอันไม่แน่นอนและจะแน่นอนได้ต่อเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้วซึ่งถ้าเหตุการณ์นั้นตรงกับความเห็นของฝ่ายใด ศาลจะต้องตัดสินให้ในฝ่ายนั้นชนะ คดีนี้ศาลชั้นต้นกะประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งห้ามีสิทธิในบริเวณที่ดินพิพาทดีกว่ากัน ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 4 เมษายน 2539 เป็นเรื่องที่คู่ความไม่ประสงค์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานไปตามปกติ แต่จะยอมรับข้อเท็จจริงกันตามที่เจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขตมาแล้ว หากปรากฏว่าหลักหมุด จ.1078 ล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนของจำเลยทั้งห้า โจทก์จะเป็นฝ่ายแก้ไขโฉนดให้มาในแนวตรงที่วัดระหว่างหลักหมุด ค.4463 กับหลักหมุดคก.5 หรือหลักหมุด ค.4483 แต่ถ้าหากหลักหมุด จ.1078 ไม่ได้ล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยทั้งห้า จำเลยทั้งห้าจะรื้อถอนรั้วที่ล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ แล้วคู่ความจะเลิกคดีกันโดยโจทก์จะถอนฟ้องและจำเลยทั้งห้าไม่คัดค้าน ซึ่งตามคำฟ้อง คำให้การและฟ้องแย้ง และคำให้การแก้ฟ้องแย้งปัญหาว่าหลักหมุด จ.1070 อยู่ในที่ดินของโจทก์หรือจำเลยทั้งห้าเป็นข้อเท็จจริงที่จะทำให้คดีแพ้ชนะกันในประเด็นข้อพิพาท ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 4 เมษายน 2539 จึงมีลักษณะเป็นคำท้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 มีผลใช้บังคับได้มิใช่เป็นข้อตกลงที่จะทำตามหรือไม่ก็ได้ เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการมาตามข้อตกลงแล้ว (ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.17) ศาลชั้นต้นก็ต้องวินิจฉัยชี้ขาดไปตามนั้นไม่ชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป ดังนั้นกระบวนพิจารณาใด ๆ ที่ศาลชั้นต้นดำเนินไปหลังจากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามข้อตกลงสำเร็จแล้วจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่