คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5198/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ. หุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ร้องยื่นเอกสารต่อรองผู้กำกับหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอ แม้ในเอกสารจะมีข้อความว่าขอท่านได้โปรดมีคำสั่งคืนรถจักรยานยนต์ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดมาให้แก่ผู้ร้องด้วย การยื่นเอกสารดังกล่าวหาใช่เป็นการขอคืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 แต่อย่างใดไม่ นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวผู้ร้องได้ยืนยันว่ารถจักรยานยนต์ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดมาเป็นของผู้ร้องผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องยืนยันถึงสิทธิของผู้ร้องในรถจักรยานยนต์ของกลาง และแม้จะได้ความว่าหลังจากทราบว่าได้ใช้รถจักรยานยนต์ในการกระทำผิดแล้วผู้ร้องยังรับชำระค่าเช่าซื้อจากผู้เช่าซื้ออีก 4 งวดและเพิ่งจะมาบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540 แต่ศาลชั้นต้นก็พิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2540 พฤติการณ์ดังกล่าวก็ยังไม่มีเหตุที่จะฟังว่าผู้ร้องขอคืนรถของกลางเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่ประการใดไม่ การที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องได้มอบรถจักรยานยนต์ไปโดยยังไม่ได้จดทะเบียนโอนเป็นการสนับสนุนให้มีการกระทำผิดกฎหมายและหากมีผู้นำรถจักรยานยนต์ไปกระทำความผิดกฎหมาย ย่อมเป็นการยากที่เจ้าพนักงานตำรวจจะทำการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ฎีกาของโจทก์ไม่ถือว่าพฤติการณ์ของผู้ร้องเช่นนี้ เป็นการขอคืนของกลางที่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น เพราะเป็นการคาดการณ์ที่ไกลเกินเหตุเนื่องจากในเรื่องเช่าซื้อรถจักรยานยนต์นี้เมื่อมีการทำสัญญาเช่าซื้อกันเป็นหนังสือตลอดจนมีการค้ำประกันแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อก็จะส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ผู้เช่าซื้อไป เป็นกรณีที่ปฏิบัติกันเป็นปกติธรรมดาโดยทั่วไป หาใช่เป็นการผิดธรรมดาวิสัยแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี พรากเด็กไปเพื่อการอนาจารและฐานพาอาวุธปืน ลงโทษจำคุกและมีคำสั่งริบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ซองพกและรถจักรยานยนต์ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านเกินกำหนด ศาลชั้นต้นไม่รับคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด และเป็นเจ้าของที่แท้จริงของรถจักรยานยนต์ของกลางเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 นางนัยนา อิ่มศิล ภริยาของจำเลยได้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางจากผู้ร้อง โดยจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าเช่าซื้อและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ระหว่างเช่าซื้อเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2539 จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดคดีอาญาจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2540 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการร้องขอคืนของกลางเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ถือว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดหรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน” ข้อเท็จจริงได้ความจากนายพิทพงศ์ สกุลมีฤทธิ์ หุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ร้องว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2540 นายพิทพงศ์ยื่นเอกสารหมาย ค.1 ต่อรองผู้กำกับหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย จริง แม้ในเอกสารดังกล่าวจะมีข้อความว่า ขอท่านได้โปรดมีคำสั่งคืนรถจักรยานยนต์ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดมาให้แก่ผู้ร้องด้วยก็ตาม การยื่นเอกสารดังกล่าวหาใช่เป็นการขอคืนของกลางตามความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 แต่อย่างใดไม่ นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าในเอกสารดังกล่าวนั้นผู้ร้องได้ยืนยันว่ารถจักรยานยนต์ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดมาเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดที่เกิดขึ้น ตามเอกสารดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ร้องยืนยันถึงสิทธิของผู้ร้องในรถจักรยานยนต์ของกลางเท่านั้น และแม้นายพิทพงศ์จะเบิกความว่า เจตนาของพยานต้องการได้รับชำระค่าเช่าซื้อจนครบแล้วโอนกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์แก่ผู้เช่าซื้อไป และแม้ได้ความว่าหลังจากทราบว่าได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางในการกระทำผิดแล้วผู้ร้องยังรับชำระค่าเช่าซื้อจากผู้เช่าซื้ออีก 4 งวดก็ตาม ก็ไม่พอฟังว่าผู้ร้องมีเจตนาที่จะรับเอาแต่ค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางจนครบมากกว่าที่จะบอกเลิกสัญญา เพราะนายพิทพงศ์เบิกความยืนยันอยู่ว่าหากมีกรณีที่ผู้เช่าซื้อเอารถไปกระทำความผิดตามกฎหมายแล้วยังชำระค่าเช่าซื้อแก่พยาน พยานก็จะไม่โอนกรรมสิทธิ์ และจะติดตามเรียกร้องค่าเสียหายหรือนำรถกลับคืนแล้วแต่กรณี และว่าหากพยานทราบว่าเอารถไปกระทำความผิดอาญาระหว่างให้เช่าซื้อพยานก็จะไม่โอนรถจักรยานยนต์ให้และจะไม่รับค่าเช่าซื้อ และแม้ผู้ร้องจะรับค่าเช่าซื้ออีก 4 งวด และเพิ่งจะมาบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540 ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นก็พิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2540 พฤติการณ์ดังกล่าวก็ยังไม่มีเหตุที่จะฟังว่าผู้ร้องขอคืนรถของกลางเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่ประการใดไม่ นอกจากนี้ที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องยอมรับว่าได้มอบรถจักรยานยนต์ของกลางไปโดยยังไม่ได้จดทะเบียนโอนเป็นการสนับสนุนให้มการกระทำผิดกฎหมาย และหากมีผู้นำรถจักรยานยนต์คันของกลางไปกระทำความผิดกฎหมายย่อมเป็นการยากที่เจ้าพนักงานตำรวจจะทำการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษพฤติการณ์ของผู้ร้องเช่นนี้การขอคืนของกลางย่อมเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลอื่นนั้นฟังไม่ขึ้นเพราะเป็นการคาดการณ์ที่ไกลเกินเหตุ เนื่องจากในเรื่องเช่าซื้อรถจักรยานยนต์นี้ เมื่อมีการทำสัญญาเช่าซื้อกันเป็นหนังสือตลอดจนมีการค้ำประกันแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อก็จะส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ผู้เช่าซื้อไปเป็นกรณีที่ปฏิบัติกันเป็นปกติธรรมดาโดยทั่วไปหาใช่เป็นการผิดธรรมดาวิสัยแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share