แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
วันที่ 25 ตุลาคม 2545 จำเลยที่ 1 ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง วันที่ 31 ตุลาคม 2545 จำเลยทั้งสองยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545 ว่าจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาเกินกำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยายถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2545 จึงไม่รับ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาฉบับลงวันที่ 25 ตุลาคม 2545 ว่าเพื่อให้คดีเป็นไปโดยรวดเร็ว จึงถือกรณีการสั่งตามคำร้องเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2545 เป็นไปโดยหลงผิด จึงให้เพิกถอนคำสั่งเดิมและอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2545 และสั่งในฎีกาของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2545 ว่า เพื่อมิให้การดำเนินคดีล่าช้าเป็นผลเสียแก่คู่ความ จึงถือว่ากรณีเป็นการสั่งโดยผิดหลง อาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 เพิกถอนคำสั่งไม่รับฎีกา สั่งใหม่ให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสอง แล้วศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาว่า เนื่องจากศาลรับฎีกาของจำเลยทั้งสอง กรณีจึงไม่มีเหตุตามอุทธรณ์อีก อุทธรณ์ไม่เป็นสาระแก่คดีจึงไม่รับ การที่ศาลชั้นต้นเพิ่งมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของจำเลยที่ 1 และสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 มีลักษณะเป็นการเพิกถอนคำสั่งเดิมย้อนหลังแทนที่จะส่งอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งตามมาตรา 252 และเหตุผลที่สั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมไม่ใช่เกิดจากการผิดหลงไม่ต้องด้วยมาตรา 27 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยตามมาตรา 247 ประกอบมาตรา 236 และคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาก็ไม่ชอบด้วยเช่นกัน ศาลฎีกาให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวตามมาตรา 243 (1) และมาตรา 27 ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
จำเลยที่ 1 อ้างเหตุขอขยายระยะเวลาฎีกาว่า ทนายจำเลยที่ 1 จัดทำฎีกาเสร็จแล้ว แต่ต้องนำเสนอกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ตรวจก่อน ปรากฏว่ากรรมการดังกล่าวเดินทางไปประกอบธุรกิจที่ต่างจังหวัด ทนายจำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถเสนอให้ตรวจได้เหตุดังกล่าวเป็นเรื่องธุรกิจของจำเลยที่ 1 เอง มิใช่พฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 564,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2544 จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาพร้อมคำร้องขอทุเลาการบังคับและคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นเวลา 15 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2544 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตเป็นครั้งสุดท้ายโดยให้นำเงินมาวางศาลภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2544 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ครั้งสุดท้ายถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2544 ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2544 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 เป็นให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2544 และวางเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์บางส่วนจำนวน 10,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 25,000 บาท จะชำระภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2544 และวันที่ 3 สิงหาคม 2544 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตเลื่อนการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เหลือไปอีก 10 วัน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2544 ว่าศาลตรวจสำนวนแล้วพบว่าทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2544 และศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 ซึ่งตามคำร้องดังกล่าว ทนายจำเลยทั้งสองได้ลงนามที่จะมาทราบคำสั่งในวันเดียวกันไว้แล้ว การที่ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2544 จึงเป็นการยื่นขอขยายระยะเวลาเมื่อสิ้นระยะเวลาแล้วโดยไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัย กรณีจึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ดังนั้น การที่ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 กรกฎากร 2544 อนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามที่ทนายจำเลยทั้งสองร้องขอนั้นจึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงให้เพิกถอนคำสั่งของศาลในวันที่ 23 กรกฎาคม 2544 ดังกล่าวเสีย และมีคำสั่งใหม่ว่าตามคำร้องของจำเลยทั้งสองซึ่งยื่นเมื่อสั้นระยะเวลาแล้ว โดยไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัย จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ และสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระภายในกำหนด จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง และสั่งในคำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลยทั้งสองว่า ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง คำร้องขอทุเลาของจำเลยทั้งสองจึงตกไป ค่าคำร้องเป็นพับ กับสั่งในคำร้องขอวางเงินค่าธรรมเนียมบางส่วนของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2544 ว่า กรณีตามคำสั่งศาลลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ที่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์จนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 เป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว ไม่มีเหตุจะให้เพิกถอน ยกคำร้องของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ ส่วนการที่จำเลยทั้งสองขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมจนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2544 และขอขยายระยะเวลาวางเงินส่วนที่เหลือไปถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2544 นั้น เห็นว่า เมื่อศาลได้มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไปแล้ว จึงไม่จำเป็นที่ต้องสั่งคำร้องของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ ค่าคำร้องเป็นพับ และสั่งคำร้องขออนุญาตเลื่อนการวางเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2544 ว่า ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไปแล้ว เนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่นำเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายในกำหนด จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจขอเลื่อนการวางเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ได้ ยกคำร้องค่าคำร้องเป็นพับ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2544 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนการวางเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์อีก แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2545 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเป็นเวลา 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2545 ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2545 จำเลยที่ 1 ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง วันที่ 31 ตุลาคม 2545 จำเลยทั้งสองยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545 ว่าจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาเกินกำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยายถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2545 จึงไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสอง และวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกา ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของจำเลยที่ 1 และเพิกถอนคำสั่งที่ไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสอง โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาฉบับลงวันที่ 25 ตุลาคม 2545 ว่าเพื่อให้คดีเป็นไปโดยรวดเร็ว จึงถือกรณีการสั่งตามคำร้องเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2545 เป็นไปโดยหลงผิด จึงให้เพิกถอนคำสั่งเดิมและอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2545 และศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2545 ว่า เพื่อมิให้การดำเนินคดีล่าช้าเป็นผลเสียแก่คู่ความ จึงถือว่ากรณีเป็นการสั่งโดยผิดหลงอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เพิกถอนคำสั่งไม่รับฎีกา แล้วสั่งใหม่ให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสอง รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกาโดยด่วนและให้งดส่งสำเนาให้อีกฝ่ายเนื่องจากเป็นเรื่องระหว่างศาลกับจำเลยทั้งสองแล้วศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาว่าเนื่องจากศาลรับฎีกาของจำเลยทั้งสองกรณีจึงไม่มีเหตุตามอุทธรณ์อีกอุทธรณ์ไม่เป็นสาระแก่คดีจึงไม่รับ คืนค่าขึ้นศาล เห็นว่า ศาลชั้นต้นเพิ่งมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของจำเลยที่ 1 และสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 มีลักษณะเป็นการเพิกถอนคำสั่งเดิมย้อนหลัง หลังจากจำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสอง เมื่อศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลย ศาลชั้นต้นต้องส่งอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมแล้วมีคำสั่งใหม่ให้ขยายระยะเวลาฎีกาไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2545 และรับฎีกาของจำเลยทั้งสองภายหลังที่จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว และเหตุผลที่สั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมไม่ใช่เกิดจากการผิดหลงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 236 และคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองก็ไม่ชอบด้วยเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) และมาตรา 27 ประกอบด้วย มาตรา 246 และมาตรา 247 เมื่อสำนวนคดีมาถึงศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นสมควรรับและวินิจฉัยในปัญหาตามอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตขยายระยะเวลาฎีกาให้จำเลยที่ 1 และไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 1 อ้างเหตุขอขยายระยะเวลาฎีกาว่า ทนายจำเลยที่ 1 จัดทำฎีกาเสร็จแล้ว แต่ต้องนำเสนอกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ตรวจก่อน แต่เนื่องจากกรรมการดังกล่าวเดินทางไปประกอบธุรกิจที่ต่างจังหวัด ทนายจำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถเสนอให้ตรวจได้ เห็นว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 อ้างเพื่อขอขยายระยะเวลาฎีกาเป็นเรื่องธุรกิจของจำเลยที่ 1 เองมิใช่พฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 และเมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาให้จำเลยที่ 1 ประกอบกับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ขอขยายระยะเวลาฎีกา ดังนั้น จำเลยทั้งสองต้องยื่นฎีกาภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2545 ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาภายในวันดังกล่าว เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาวันที่ 31 ตุลาคม 2545 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาขยายฎีกาดังกล่าวแล้ว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในครั้งแรกไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองชอบแล้ว อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2545 ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาและไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาและยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสอง คืนค่าคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่เสียเกินมา 160 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสอง ส่วนค่าคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่เหลือและค่าทนายความให้เป็นพับ