คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาของคดีอื่น คำพิพากษานั้นไม่ผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาล ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สอบสวนและทำความเห็นเสนอต่อศาลว่าเจ้าหนี้ควรได้รับชำระหนี้น้อยกว่าหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้ขอรับชำระ และศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายโดยชอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลายพ.ศ. 2483 แล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งศาลในเรื่องคำขอรับชำระหนี้ต้องเสียค่าขึ้นศาล เพียงศาลละ 25 บาท เท่านั้น.

ย่อยาว

คดีนี้มูลกรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาด เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน 922,140.12 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้ง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่าควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 774,410.45 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายขจรศักดิ์ธนศุทธวงศ์ ในหนี้อันดับ 1 จากนายขจรศักดิ์ ธนศุทธวงศ์นายสุรพันธุ์ สุระวัฒนาพงศ์ นายลภชัย ธนะชัยชน ในหนี้อันดับ 2เพียงใด ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงเพียงนั้น ส่วนหนี้ที่ขอเกินมาจำนวน 147,729.67 บาทให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่า การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วและไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสอบสวนทำความเห็นว่าเจ้าหนี้ควรได้รับชำระหนี้น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา และศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวได้หรือไม่เห็นว่าการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายนั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และตามมาตรา 105 บัญญัติว่า”ในการตรวจคำขอรับชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้ ลูกหนี้หรือบุคคลใดมาสอบสวนในเรื่องหนี้สิน แล้วทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระนั้นต่อศาล พร้อมทั้งรายงานว่ามีผู้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ประการใดหรือไม่” ซึ่งมีข้อความชัดแจ้งแล้วว่า ในการตรวจคำขอรับชำระหนี้และทำความเห็นเสนอต่อศาลนั้นแม้หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นก็ตามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีอำนาจเต็มที่ที่จะสอบสวนให้ได้ความจริงในเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระนั้นว่า เป็นหนี้ที่ขอรับชำระได้เพียงใดหรือไม่แล้วทำความเห็นเสนอต่อศาลตามความจริงที่ได้ความตามทางสอบสวน หามีข้อจำกัดว่าหากไม่มีผู้โต้แย้งแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจสอบสวนและทำความเห็นให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาไม่และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สอบสวนและทำความเห็นเสนอต่อศาลแล้ว ศาลก็มีอำนาจพิจารณาสั่งตามมาตรา 106, 107 กล่าวคือคำขอรับชำระหนี้รายใดถ้าลูกหนี้ เจ้าหนี้ หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่โต้แย้ง ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ได้เว้นแต่มีเหตุสมควรสั่งเป็นอย่างอื่น คำขอรับชำระหนี้รายใดถ้ามีผู้โต้แย้ง ให้ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้หรืออนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนหรืออนุญาตให้ได้รับชำระหนี้บางส่วน แสดงให้เห็นว่าการที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นคำพิพากษานั้นไม่ผูกพ้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาล ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สอบสวนและทำความเห็นเสนอต่อศาลว่าเจ้าหนี้ควรได้รับชำระหนี้น้อยกว่าหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้ขอรับชำระ และศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น อนึ่งปรากฏว่าเจ้าหนี้รายนี้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาเพียงศาลละ 25 บาทเท่านั้น จึงควรคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาส่วนที่เสียเกินมาแก่เจ้าหนี้”
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาส่วนที่เสียเกินกว่า 25 บาท แก่เจ้าหนี้

Share