คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5174/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วจำเลยไม่เห็นด้วยจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าข้ออ้างของจำเลยขาดเหตุผลยกคำร้องคำร้องดังกล่าวเท่ากับเป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226(2)แล้วหาจำต้องโต้แย้งคำสั่งศาลที่ให้ยกคำร้องในครั้งหลังอีกไม่ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำและเรียกค่าเสียหายตามสัญญาจะซื้อขายจำเลยให้การต่อสู้ว่าลายมือชื่อจำเลยในสัญญาเป็นลายมือชื่อปลอมจำเลยไม่ได้รับเงินมัดจำจากโจทก์จำเลยไม่ได้มีเจตนาทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์สัญญาดังกล่าวเป็นการกระทำโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของสัญญาโจทก์กับพวกร่วมกันฉ้อฉลจำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยเท่ากับเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์และปฎิเสธความสมบูรณ์ของสัญญาด้วยว่าไม่มีผลผูกพันระหว่างโจทก์จำเลยคำให้การจึงหาได้ขัดแย้งกันไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยตกลงทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 46792 กับเลขที่ 46793 ตำบลบางระมาดอำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร รวม 2 โฉนด เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน33 ตารางวา ให้แก่โจทก์ในราคาตารางวาละ 8,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 14,664,000 บาท จำเลยได้รับเงินมัดจำเป็นจำนวน2,000,000 บาท ไว้แล้วในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือโจทก์จะชำระให้แก่จำเลยในวันที่ 3 เมษายน 2532 เมื่อได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หากจำเลยผิดสัญญา จำเลยจะต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,000,000 บาท ครั้นวันที่ 3 เมษายน 2532 จำเลยผิดสัญญาไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์และปรากฎว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 46793 เพียงแปลงเดียวส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 46792 เป็นของบุคคลภายนอก โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน2,000,000 บาท และต้องคืนเงินมัดจำอีก 2,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ จำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้มีเจตนาทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์และมิได้รับเงินมัดจำจากโจทก์ ลายมือชื่อของจำเลยในสัญญาจะซื้อขายที่โจทก์อ้างตามฟ้องนั้นเป็นลายมือปลอม ความจริงจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 46793 กับเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 46792 ได้ตกลงขายให้แก่ผู้มีชื่อ และผู้มีชื่อได้นำไปเสนอขายให้แก่โจทก์ โดยโจทก์กับผู้มีชื่อได้ทำการฉ้อฉลเพื่อหวังผลกำไรจากราคาที่เพิ่มขึ้นสัญญาที่โจทก์ทำขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์กับพวกร่วมกันฉ้อฉลหลอกลวงบุคคลที่สามและจำเลย ทำให้จำเลยสำคัญผิดในการทำสัญญาอันเป็นสาระสำคัญ สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะจำเลยกับพวกมีความประสงค์จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้มีชื่อจึงไปสำนักงานที่ดินหลายครั้งแต่ผู้มีชื่อยังไม่สามารถที่จะดำเนินการขออนุญาตเชื่อมเส้นทางของทางราชการเข้าสู่ที่ดินของจำเลยได้ จึงไม่สามารถนำเงินจากบุคคลที่สามมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยกับพวกได้ ผู้มีชื่อขอให้จำเลยกับพวกต่อสัญญาให้อีกครั้งหนึ่งจำเลยกับพวกมิได้ผิดนัดผิดสัญญาต่อโจทก์ การที่โจทก์กับผู้มีชื่อไม่ประสงค์จะซื้อที่ดินจากจำเลยกับพวก เนื่องจากไม่สามารถขออนุญาตเชื่อมทางของทางราชการเข้าสู่ที่ดินจำเลยจึงไม่ได้รับชำระเงินจากบุคคลที่สาม การที่โจทก์กับพวกฟ้องจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยไม่จำต้องคืนมัดจำหรือใช้ค่าปรับให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 2,000,000 บาท และชำระเบี้ยปรับอีก 500,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,500,000 บาทให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม 2532 ขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่โดยเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่าสัญญาจะซื้อขายมีผลผูกพันจำเลยหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นยกคำร้องเท่ากับเป็นการโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นเพื่อที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วจำเลยไม่เห็นด้วยจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าข้ออ้างของจำเลยขาดเหตุผลยกคำร้อง คำร้องดังกล่าวเท่ากับเป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 226(2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยหาจำต้องโต้แย้งคำสั่งศาลที่ให้ยกคำร้องของจำเลยในครั้งหลังอีกไม่ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทของศาลชั้นต้นโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้บังคับคืนเงินมัดจำและเรียกค่าเสียหายตามสัญญาจะซื้อขาย จำเลยให้การต่อสู้ว่า ลายมือชื่อจำเลยในสัญญาจะซื้อขายเป็นลายมือชื่อปลอมจำเลยไม่ได้รับเงินมัดจำจากโจทก์จำเลยไม่ได้มีเจตนาทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ สัญญาจะซื้อขายเป็นการกระทำโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของสัญญา โจทก์กับพวกร่วมกันฉ้อฉลจำเลยโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยจึงเท่ากับเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ และปฎิเสธความสมบูรณ์ของสัญญาด้วยว่าสัญญาจะซื้อขายไม่มีผลผูกพันระหว่างโจทก์จำเลย แม้จำเลยจะให้การปฎิเสธว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ด้วยก็ตาม คำให้การดังกล่าวของจำเลยก็หาได้ขัดแย้งกันแต่อย่างใดไม่ และมิใช่เป็นกรณีที่ข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวไม่อาจจะเป็นไปได้ในเวลาเดียวกันดังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เพราะเมื่อหากฟังว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์โดยมิใช่เป็นลายมือชื่อปลอมก็ยังมีข้อวินิจฉัยต่อไปด้วยว่าสัญญาจะซื้อขายมีผลผูกพันโจทก์จำเลยหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นคำให้การขัดกันซึ่งไม่อาจเป็นไปได้ในเวลาเดียวกัน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น คดีจึงยังต้องมีประเด็นข้อพิพาทด้วยว่าสัญญาจะซื้อขายมีผลผูกพันโจทก์จำเลยหรือไม่ เพื่อมิให้คดีล่าช้าและคู่ความได้สืบพยานมาจนสิ้นกระแสความแล้ว หากจะย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างสืบพยานอีกก็จะไม่ได้ความเพิ่มขึ้นศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวน คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาตามฎีกาจำเลยว่าจำเลยรับเงินมัดจำจากโจทก์และสัญญาจะซื้อขายมีผลผูกพันโจทก์จำเลยหรือไม่ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมจำเลยกับนางทองสุข กล้าหาญ ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 46792 กับ46793 ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ราคาตารางวาละ 5,000 บาท ให้แก่นายสุรเดช อร่วมเวชอนันต์ตามเอกสารหมาย ล.1 ได้ความจากนายสุรเดชพยานโจทก์เบิกความว่านายสุรเดชกับจำเลยมีข้อตกลงกันว่า ก่อนถึงกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ นายสุรเดชมีสิทธินำที่ดินไปเสนอขายให้แก่ผู้ใดก็ได้และสามารถโอนที่ดินจากจำเลยไปยังผู้ซื้อคนหลังได้โดยไม่ต้องโอนมาเป็นชื่อของนายสุรเดชเสียก่อน ราคาที่เกินกว่าที่นายสุรเดชซื้อจากจำเลยให้เป็นส่วนกำไรของนายสุรเดช นายสุรเดชจึงให้นางพัชรินทร์ภริยาของนายสุรเดชนำที่ดินดังกล่าวเสนอขายต่อโจทก์ โจทก์ตกลงซื้อในราคาตารางวาละ 8,000 บาทนางพัชรินทร์เป็นผู้กำหนดให้โจทก์วางเงินมัดจำจำนวน2,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 นางพัชรินทร์เป็นผู้รับเงินมัดจำเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด ตามเอกสารหมาย ล.4 จากโจทก์และได้นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของนายสุรเดชที่ธนาคารสหธนาคาร โจทก์รู้ว่านายสุรเดชได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 มาก่อนแล้ว นางวันเพ็ญ เจือแก้วพยานโจทก์เบิกความว่า ในวันทำสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.1โจทก์พูดกับนางวันเพ็ญในขณะที่จะเซ็นสัญญาว่าราคานี้ซื้อจากนายสุรเดช โจทก์ทราบว่านายสุรเดชและจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงนี้มาก่อนแล้ว โจทก์เองก็เบิกความว่านายสุรเดชเป็นคนพาไปดูและชี้เขตที่ดิน โจทก์ต่อรองราคากับนายสุรเดชนายสุรเดชก็เบิกความว่า คู่ฉบับสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.1นายสุรเดชเป็นผู้เก็บพยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังได้ว่า จำเลยไม่ได้รับเงินมัดจำจากโจทก์และที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ก็เพราะนายสุรเดชได้นำที่ดินซึ่งมีชื่อของจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ขายต่อให้แก่โจทก์โดยตรง เพื่อที่จะไม่ต้องโอนผ่านให้แก่นายสุรเดชก่อนซึ่งจะทำให้เสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเพียงครั้งเดียวระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น และความข้อนี้โจทก์ก็ทราบเป็นอย่างดี อันถือได้ว่าการที่จำเลยแสดงเจตนาทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ในลักษณะเช่นนี้ จำเลยมิได้เจตนาต้องให้ผูกพันตนตามที่แสดงออกมาปรากฎตามสัญญาจะซื้อขาย การแสดงเจตนาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย และเมื่อจำเลยมิใช่เป็นผู้รับเงินมัดจำจากโจทก์ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่จะต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนมัดจำและชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์

Share