แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ในเขตเทศบาล จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารเลขที่ 54/8 รุกล้ำเข้าไปในลำรางสาธารณะที่ตื้นเขินกลายสภาพเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ในเขตเทศบาล เนื้อที่ 4.4 ตารางวา ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วโจทก์ไม่ต้องแสดงโฉนดหรือหลักฐานแห่งที่ดินว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อย่างไร เพราะการเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่เป็นไปตามสภาพของที่ดิน และโจทก์ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้องว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์ทั้งหมดมีเนื้อที่เท่าใดจำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำตั้งแต่เมื่อใด มีเขตกว้างยาวเท่าใดเพราะเป็นรายละเอียดที่คู่ความอาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ลำรางสาธารณประโยชน์สำหรับระบายน้ำจากภูเขาซึ่งมีมานานแล้วเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้ต่อมาจะไม่มีสภาพเป็นทางระบายน้ำต่อไปและไม่มีราษฎรใช้ประโยชน์เมื่อยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา 8 ประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินนั้นยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่เช่นเดิม ที่งอกริมตลิ่ง หมายถึงที่ดินที่งอกไปจากตลิ่งตามธรรมชาติซึ่งเกิดจากการที่สายน้ำพัดพาดินจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเกิดที่งอกขึ้น มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่ง โจทก์มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตเทศบาลตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำลำรางสาธารณะที่ตื้นเขินกลายสภาพเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เนื้อที่ 4.4 ตารางวาจำเลยไม่ยอมทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ โจทก์ให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำออกไปแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำลำรางสาธารณะดังกล่าวกับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าว ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนอาคาร ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า ลำรางสาธารณะที่จำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเป็นคลองน้ำที่เอกชนมีไว้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยปลูกสร้างอาคารบนที่ดินโฉนดเลขที่ 7362 ไม่ได้รุกล้ำที่สาธารณะ โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้รื้อถอนอาคาร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ปัจจุบันลำรางสาธารณะไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วเพราะมีการเลิกใช้เพื่อสาธารณประโยชน์แล้ว อีกทั้งที่พิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่ง จำเลยจึงเป็นเจ้าของ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารเลขที่ 54/8 ถนนสุทัศน์ ตำบลรัษฎา (ตลาดใหญ่) อำเภอเมืองภูเก็ต ส่วนที่รุกล้ำลำรางสาธารณะเนื้อที่ 4.4 ตารางวา กับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินดังกล่าว ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอในส่วนที่ว่าถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ในเขตเทศบาลตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยจำเลยได้ปลูกสร้างอาคารเลขที่ 54/8 รุกล้ำเข้าไปในลำรางสาธารณะที่ตื้นเขินกลายสภาพเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ในเขตเทศบาล เนื้อที่4.4 ตารางวา ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้วโจทก์ไม่ต้องแสดงโฉนดหรือหลักฐานแห่งที่ดินว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อย่างไร เพราะการเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่เป็นไปตามสภาพของที่ดิน และโจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้องว่าที่ดินสาธารณประโยชน์ทั้งหมดมีเนื้อที่เท่าใด จำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเข้ามาในที่ดินแต่เมื่อใด มีเขตกว้างยาวเท่าใดเพราะเป็นรายละเอียดที่คู่ความอาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ฯลฯ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าลำรางตามฟ้อง เดิมมีสภาพเป็นคลองระบายน้ำจากภูเขาลงสู่คลองบางใหญ่ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลไม่ปรากฏว่าเอกชนผู้ใดขุดขึ้นใช้ประโยชน์ส่วนตัวดังคำให้การของจำเลยจึงน่าเชื่อว่า ลำรางตามฟ้องเป็นลำรางสาธารณประโยชน์สำหรับระบายน้ำจากภูเขาซึ่งมีมานานแล้ว จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้ต่อมาจะตื้นเขินขึ้นตามธรรมชาติ หรือมีผู้ถมดินรุกล้ำเข้ามาไม่มีสภาพเป็นทางระบายน้ำต่อไปและไม่มีราษฎรใช้ประโยชน์ก็ตาม เมื่อทางราชการยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 8 ประมวลกฎหมายที่ดินที่ดินนั้นยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่เช่นเดิม ทีจำเลยอ้างว่าหลังจากมีการตัดถนนผ่านคลองได้เกิดที่งอกเต็มลำคลองนั้น เห็นว่าที่งอกริมตลิ่ง หมายถึงที่ดินที่งอกไปจากตลิ่งตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการที่สายน้ำพัดพาดินจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเกิดที่งอกขึ้น มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่ง จำเลยเบิกความว่าหลังจากมีการสร้างถนนสุทัศน์แล้ว คลองดังกล่าวมีสภาพเป็นคลองตัน น้ำในคลองย่อมจะไม่มีการไหลหมุนเวียน จึงไม่น่าจะเกิดที่งอกริมตลิ่งได้จำเลยเองก็ตอบโจทก์ถามค้านว่า ไม่ทราบว่าที่พิพาทตื้นเขินจากพื้นของคลองหรือตื้นเขินจากด้านข้างของคลอง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งที่จำเลยสามารถมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองได้ ฯลฯ โจทก์มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตเทศบาลตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวจำเลยล่วงหน้า
พิพากษายืน