คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5166/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติ โรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 8,12,43 และ 44 แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2535 ออกมายกเลิกพระราชบัญญัติโรงงานฉบับเดิมทั้งหมดปรากฏว่าโรงงานของจำเลยเป็นโรงงานตัดหรือเย็บเครื่องนุ่งห่มมีคนงานไม่เกิน 50 คน จึงเป็นโรงงานจำพวกที่ 2 ตามมาตรา 7แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ประกอบกับกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติฉบับนี้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติใดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ระบุไว้ว่าการตั้งโรงงานหรือประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตและไม่มีบทกำหนดโทษไว้เช่นพระราชบัญญัติโรงงานฉบับเดิม ถือได้ว่า ตามบทพระราชบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้น จากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 2 มกราคม 2535 ถึงวันที่8 มกราคม 2535 จำเลยได้ตั้งโรงงานขึ้นที่อาคารบ้านเลขที่ 12/7ซอยสุขสวัสดิ์ 14 แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานครประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าโดยใช้เครื่องจักร จักรเย็บผ้าจำนวน22 เครื่องมีแรงม้ารวม 5.72 แรงม้าและใช้คนงานจำนวน 21 คนเพื่อตัดหรือเย็บเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้า) ซึ่งโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานตามบัญชีท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2513)ลำดับที่ 28 ทั้งนี้โดยจำเลยมิได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายและโดยไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย จำเลยได้ประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวโดยตัดเย็บเสื้อผ้าโดยมิได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานจากพนักงานเจ้าหน้าที่และจำเลยได้รับเด็กหญิงพัฒนา ศรีสุข อายุ 14 ปี เด็กชายบรรจง สุขจิต อายุ14 ปีเศษและเด็กหญิงเด็กชายอีก 5 คน ซึ่งเป็นเด็กอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่ถึงสิบห้าปีบริบูรณ์เข้าทำการตัดเย็บเสื้อผ้าในโรงงานดังกล่าว ทั้งนี้โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานตรวจแรงงานอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2512 มาตรา 5, 8, 12, 43, 44 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515ข้อ 2, 8 ประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 12) ข้อ 21 คืนจักรของกลางแก่เจ้าของและให้จำเลยหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะได้รับอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง, 44 วรรคหนึ่งประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 12)ข้อ 21(2) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ 30,000 บาท ฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 6 เดือนและปรับ 40,000 บาทฐานรับเด็กเข้าทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานตรวจแรงงานปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือนและปรับ 80,000 บาทจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 เดือนและปรับ 40,000 บาท คืนเครื่องจักรของกลางแก่เจ้าของ ให้จำเลยหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะได้รับอนุญาต ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน 1 ปี 1 เดือนจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่ามีพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2535 ยกเลิกพระราชบัญญัติโรงงานฉบับเดิมซึ่งตามพระราชบัญญัติโรงงานฉบับใหม่มิได้บัญญัติว่าการตั้งโรงงานเช่นจำเลยจะต้องขอใบอนุญาตแต่อย่างใด การตั้งโรงงานของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไปคดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะมีความผิดฐานตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 8, 12,43 และ 44 แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ออกมายกเลิกพระราชบัญญัติโรงงานฉบับเดิมทั้งหมด ปรากฏว่าโรงงานของจำเลยเป็นโรงงานตัดหรือเย็บเครื่องนุ่งห่มมีคนงานไม่เกิน 50 คน จึงเป็นโรงงานจำพวกที่ 2 ตามมาตรา 7แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ประกอบกับกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ระบุไว้ว่าการตั้งโรงงานหรือประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 จะต้องได้รับอนุญาตและไม่มีบทกำหนดโทษไว้เช่นพระราชบัญญัติโรงงานฉบับเดิม ถือได้ว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาในข้อหาประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185, 215 และ 225”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share