แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 บัญญัติว่า”เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษใน พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้ (1) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับในกรณีที่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า การที่กำหนดให้ใช้ค่าทดแทนตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดนั้น หมายถึงราคาธรรมดาที่อาจซื้อขายกันในท้องตลาดตามความเป็นจริงในวันที่พระราชกฤษฎีกา ใช้บังคับ มิได้หมายความว่า ถ้าในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนซื้อขายกันที่สำนักงานที่ดินก็จะต้องถือเอาราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทนทั้งการที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสิบสองโดยถือเอาราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวเป็นเกณฑ์กำหนดราคาค่าทดแทนย่อมคงที่ตลอดเวลาที่ใช้ราคาประเมินนั้นมิใช่ราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดซึ่งที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสองอาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ปรากฎว่า วันที่ 28 ธันวาคม2527 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกา ประกาศใช้บังคับ จำเลยนำเอาราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่เริ่มใช้บังคับนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2525 มาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองนับว่าเป็นราคาที่แตกต่างจากราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนประกาศใช้บังคับแน่ เนื่องจากเป็นเวลาที่เนิ่นนานร่วม3 ปีแล้ว ราคาที่ดินย่อมสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นธรรมดา ราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2528 จึงเป็นราคาใกล้เคียงกับราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตดุสิต เขตบางกอกน้อยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2527 มีหน้าที่สำรวจที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืน ดำเนินการเพื่อเข้าครอบครองที่ดิน ตลอดจนกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน โจทก์ทั้งสิบสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี บริเวณริมถนนจรัญสนิทวงศ์ เชิงสะพานพระรามหกจำเลยได้ทำความตกลงกับโจทก์ทั้งสิบสองโดยโจทก์ทั้งสิบสองยอมรับเงินค่าทดแทนตามจำนวนที่จำเลยกำหนดให้ แต่เห็นว่ายังไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสิบสองจึงได้สงวนสิทธิในการที่จะฟ้องร้องเรียกเงินค่าทดแทนที่จะได้รับเพิ่มขึ้นอีก จำเลยไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยค่าทดแทนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพราะมิได้กำหนดให้ตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกา ใช้บังคับ การกำหนดค่าทดแทนของจำเลยไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสิบสอง ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 2,340,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 635,200 บาทโจทก์ที่ 3 จำนวน 577,400 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 5,245,000 บาทโจทก์ที่ 5 และที่ 6 จำนวน 8,355,000 บาท โจทก์ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 จำนวน 790,000 บาท โจทก์ที่ 10 และที่ 11 จำนวน1,365,000 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 1,116,000 บาท โจทก์ที่ 10และที่ 12 จำนวน 4,341,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนต่าง ๆ ดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกา ใช้บังคับเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบสอง
จำเลยให้การว่า การกำหนดค่าทดแทนเฉพาะที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสองที่ถูกเวนคืนนั้น จำเลยได้กำหนดให้ตามราคาที่เป็นธรรมแล้วโดยถือบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในปี 2525-2527 เป็นหลัก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 468,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน117,750 บาท โจทก์ โจทก์ที่ 3 จำนวน 128,500 บาท โจทก์ที่ 4จำนวน 524,500 บาท โจทก์ที่ 5 และที่ 6 จำนวน 1,671,000 บาทโจทก์ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 จำนวน 79,000 บาท โจทก์ที่ 10 และที่ 11จำนวน 273,000 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 124,000 บาทโจทก์ที่ 10 และที่ 12 จำนวน 765,200 บาท และให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ทุกคนจากต้นเงินตามที่กล่าวมานี้ทุกจำนวนในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยต้องจ่ายค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาว่าการที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองโดยถือเอาราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ใช้บังคับในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2525 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2527 นั้นเป็นการถูกต้องและเป็นธรรมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 แล้ว การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองโดยถือเอาราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ใช้บังคับระหว่างวันที่1 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2530 ตามเอกสารหมาย จ.47 มาเป็นหลักในการพิจารณาให้ค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสิบสองคน ไม่เป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวเพราะบัญชีดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับ เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนนั้นถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังกล่าวต่อไปนี้ (1) ในวันพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ในกรณีที่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าการที่กำหนดให้ใช้ค่าทดแทนตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดนั้น หมายถึงราคาธรรมดาที่อาจซื้อขายกันในท้องตลาดตามความเป็นจริงในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ มิใช่หมายความว่า ถ้าในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนซื้อขายกันที่สำนักงานที่ดินก็จะต้องถือเอาราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทน ทั้งการที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสิบสองโดยถือเอาราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวเป็นเกณฑ์กำหนดราคาค่าทดแทนย่อมคงที่ตลอดเวลาที่ใช้ราคาประเมินนั้น มิใช่ราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ซึ่งที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสองอาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ปรากฎว่า วันที่ 28 ธันวาคม 2527 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาประกาศใช้บังคับ จำเลยนำเอาราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่เริ่มใช้บังคับนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2525 ตามเอกสารหมาย ล.1 มาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองนับว่าเป็นราคาที่แตกต่างจากราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนประกาศใช้บังคับแน่ เนื่องจากเป็นเวลาเนิ่นนานร่วม 3 ปีแล้ว ราคาที่ดินย่อมสูงขึ้นเรื่อย ๆเป็นธรรมดา เมื่อพิจารณาราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามเอกสารหมาย จ.47 ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีลงชื่อในประกาศเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2527 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2528 เป็นที่เห็นได้ว่า คณะกรรมการมีการกำหนดหลักเกณฑ์จำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามเอกสารหมาย ล.5 ใช้บังคับเพียง 3 วัน ดังนั้นราคาประเมินตามเอกสารหมาย จ.47 จึงเป็นราคาใกล้เคียงกับราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองโดยถือเอาราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ใช้บังคับในระหว่างวันที่ 1 มกราคม2528 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2530 จึงชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน