แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทกำหนดโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 35 นั้นปรากฏว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด คือมาตรา 84แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด คือมาตรา 91ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535มาตรา 22 ทั้งนี้เพราะตามมาตรา 84 กำหนดอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี แต่อัตราโทษตามมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่ จำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี ดังนี้เมื่อเปรียบเทียบแล้วจะเห็นได้ว่า มาตรา 91ที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ผู้กระทำความผิดมากกว่าตามมาตรา 84 เดิม ทั้งนี้เพราะตามมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่ไม่มีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำไว้ จึงต้องใช้มาตรา 91ที่แก้ไขเป็นบทลงโทษแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 35, 84รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 90, 90 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยทั้งสองมีกำหนดสิบปี ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 35(1), 84จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 1ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน การสมควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี ริบของกลางยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้เงินแก่ผู้เลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ผู้เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่นายเกียรติชัย ชัยเชาวรัตน์ผู้สมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 35(1)แต่เกี่ยวกับบทกำหนดโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 35 นั้นปรากฏว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดคือมาตรา 84 แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด คือ มาตรา 91 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2535 มาตรา 22 ทั้งนี้เพราะตามมาตรา 84 กำหนดอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี แต่อัตราโทษตามมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่ จำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปีดังนี้เมื่อเปรียบเทียบแล้วจะเห็นได้ว่า มาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ผู้กระทำความผิดมากกว่าตามมาตรา 84 เดิมทั้งนี้เพราะตามมาตรา 91 ที่แก้ใหม่ไม่มีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำไว้จึงต้องใช้มาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่เป็นบทลงโทษแก่จำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 91ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 มาตรา 22นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1