คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5143/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ ฉบับแรกมีจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะมีต่อไปในภายหน้าและให้มีผลตลอดไปตราบเท่าที่จำเลยที่ 1 ยังมีหนี้สินคงค้างอยู่กับโจทก์ ซึ่งสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมิได้กำหนดว่าค้ำประกันหนี้จำนวนใดโดยเฉพาะเจาะจง และมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญาค้ำประกัน แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้กับโจทก์ใหม่อีก โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในสัญญาค้ำประกันหนี้ใหม่ก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ได้ตกลงยกเลิกสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ต่อกัน และให้ยึดถือเอาสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำไว้กับโจทก์เพียงฉบับเดียว ดังนั้น สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ทำไว้กับโจทก์จึงยังคงมีผลบังคับอยู่ เมื่อโจทก์นำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับใหม่มาฟ้อง จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ต้องรับผิดในหนี้ใหม่ตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ต่อโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ร่วมกันชำระเงิน ๑๗,๕๑๑,๒๙๐.๔๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๖,๑๓๓,๔๗๒.๗๑ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่ทำขึ้นใหม่จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถอนฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ ๖ ศาลชั้นต้นอนุญาต ส่วนจำเลยที่ ๗ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ และที่ ๗ ร่วมกันชำระเงิน ๑๗,๕๑๑,๒๙๐.๔๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๖,๑๓๓,๔๗๒.๗๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๗ รับผิดชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน ๑๑,๕๒๘,๔๘๒.๒๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๑,๑๓๓,๔๗๒.๗๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ และที่ ๗ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ ๕ อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๗ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ และที่ ๗ ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ ๕ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๒๐,๐๐๐ บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่จำเลยที่ ๕ ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้โจทก์นำมาชำระต่อศาลในนามของจำเลยที่ ๕ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๑ เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ ๐๐๑ – ๑ -๒๔๔๔๖ – ๔ กับโจทก์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเบิกถอนเงินและเดินสะพัดทางบัญชี ต่อมาวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๙ ต่อปี ยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีธนาคาร ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ. ๒๙ และในวันเดียวกันจำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เงินโจทก์ ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ล. ๖ โดยมีจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ และที่ ๗ ทำสัญญาค้ำประกันในวันดังกล่าวในวงเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ. ๓๓ ต่อมาวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ. ๓๐ และทำสัญญากู้เงินโจทก์ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญากู้เงินเอกสาร จ. ๔ โดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ค้ำประกันในวงเงิน ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ. ๓๔ จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี นับถึงวันบอกเลิกสัญญาวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ เป็นเงิน ๑๑,๑๓๓,๔๗๒.๗๑ บาท และดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นนับถัดจากวันดังกล่าวถึงวันฟ้อง จำนวนเงิน ๓๙๕,๐๐๙.๕๑ บาท รวมเป็นเงิน ๑๑,๕๒๘,๔๘๒.๒๒ บาท และเป็นหนี้เงินกู้จำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน ๙๘๒,๘๐๘.๒๒ บาท คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่าจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๗ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๗ ทำไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. ๓๓ ข้อ ๑ ระบุว่า เนื่องในการที่ธนาคารโจทก์ได้ยอมให้จำเลยที่ ๑ ทำการกู้เงิน กู้เบิกเงินเกินบัญชี หรือรายการอื่นใดอันก่อให้เกิดภาระหนี้สิน ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะมีต่อไปในภายหน้าเป็นจำนวนเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันและรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในอันที่จะชำระหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ยซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนี้จนสิ้นเชิงพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี และในข้อ ๕ ระบุว่า การค้ำประกันนี้มีผลใช้บังคับและผูกพันผู้ค้ำประกันตลอดไปตราบเท่าที่หนี้สินที่ลูกหนี้ยังคงมีอยู่ต่อธนาคาร เนื่องจากมูลหนี้ดังกล่าวในข้อ ๑ ยังมิได้ชำระให้ธนาคารจนหมดสิ้นเรียบร้อย สัญญาค้ำประกันดังกล่าวมิได้กำหนดไว้ว่าค้ำประกันหนี้จำนวนหนึ่งจำนวนใดโดยเฉพาะเจาะจง และมิได้มีข้อกำหนดของระยะเวลาว่าคู่สัญญามีเจตนาให้สัญญาค้ำประกันสิ้นผลผูกพันลงเมื่อใด แม้จะมีเหตุอันพึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้ชำระหนี้เงินกู้จำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญากู้เอกสารหมาย ล. ๖ ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว เพราะโจทก์มิได้นำหนี้จำนวนดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยที่ ๑ กับพวกรับผิดต่อโจทก์ และปรากฏว่าในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๘ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์อีก ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท และทำสัญญากู้เงินจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกันนั้น จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๗ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในหนี้สองจำนวนหลังนี้ และมูลหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในการ์ดบัญชีเอกสารหมาย จ. ๓๘ ได้ความว่า ในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นเจ้าหนี้โจทก์อยู่จำนวน ๓,๑๔๔,๙๑๓.๗๕ บาท ก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๗ ได้ตกลงยกเลิกสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ต่อกัน และให้ยึดถือเอาสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำไว้กับโจทก์เพียงฉบับเดียว ดังนั้น สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๗ ทำไว้กับโจทก์จึงยังคงมีผลบังคับอยู่ เพราะสัญญาค้ำประกันดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่าค้ำประกันทั้งหนี้สินที่มีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคตและมีผลตลอดไปตราบเท่าที่จำเลยที่ ๑ ยังมีหนี้สินคงค้างอยู่กับโจทก์ เมื่อปรากฏว่าหลังจากวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๘ ซึ่งจำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ ๑ ก็ยังคงเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ตลอดมา วันรุ่งขึ้นวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ ก็กลับมีฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์จำนวน ๒,๖๔๔,๙๑๓.๗๕ บาท เมื่อนับถึงวันบอกเลิกสัญญาวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน ๑๑,๑๓๓,๔๗๒.๗๑ บาท และดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นนับถึงวันฟ้องจำนวน ๓๙๕,๐๐๙.๕๑ บาท จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๗ ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งยอมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ อย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมกันชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๗ ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share