แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1723 เมื่อโจทก์ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกจึงไม่อาจจัดการมรดกได้โดยตนเอง ทั้งเหตุที่ต้องโทษจำคุกก็เนื่องมาจากการเบียดบังทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนในฐานะผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์ ดังนี้ ถือได้ว่ามีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเดิมศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 2621/2534ให้ถอนนางสุรี จารุศร จำเลย ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และมีคำสั่งตั้งนายสิงหวิชัย จารุศร โจทก์ที่ 2 และนางสุวลัย จันทวานิช ผู้ร้องสอดที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกของนายสว่าง จารุศร ผู้ตาย
ต่อมาผู้ร้องสอดที่ 2 ยื่นคำร้องว่า หลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตั้งโจทก์ที่ 2 และผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว โจทก์ที่ 2 และผู้ร้องสอดที่ 2 ได้ร่วมกันจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายตลอดมาแต่ยังไม่เสร็จสิ้น ต่อมาโจทก์ที่ 2 ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่กรรม ผู้ร้องสอดที่ 2จึงไม่อาจจัดการมรดกของผู้ตายต่อไปแต่โดยลำพังได้ จึงมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องสอดที่ 2 ให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไปแต่ผู้เดียว
โจทก์ที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและนางกริสนาหรือกฤษณา เจริญมาศ และเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ที่ 2 ต่อมาผู้ตายได้หย่าขาดกับนางกฤษณาแล้วจดทะเบียนสมรสกับจำเลย และมีบุตรกับจำเลยอีก 2 คน คือผู้ร้องสอดที่ 1 และผู้ร้องสอดที่ 2 ในระหว่างที่ผู้ร้องสอดที่ 2 กับโจทก์ที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายทั้งสองคนได้ร่วมกันจัดการทรัพย์มรดกโดยมีพฤติการณ์ส่อไปทางทุจริตมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกให้ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ร้องสอดที่ 2 จึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีกต่อไป ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องสอดที่ 2 และมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป
จำเลยยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องสอดที่ 2 และมีคำสั่งตั้งผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป
ผู้ร้องสอดที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายกับจำเลย เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ร้องสอดที่ 2 ผู้ร้องสอดที่ 2 ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีกต่อไป ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องสอดที่ 2 และมีคำสั่งตั้งผู้ร้องสอดที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป
ในระหว่างไต่สวนคำร้อง จำเลยถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีในส่วนการคัดค้านของจำเลยออกจากสารบบความ
ส่วนผู้ร้องสอดที่ 2 แถลงไม่ติดใจที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางวรรณา จารุศร (บริสุทธิ์) โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสว่าง จารุศร ผู้ตาย โดยให้มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องของผู้ร้องสอดที่ 1 และผู้ร้องสอดที่ 2
ผู้ร้องสอดที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสว่าง จารุศร ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและอยู่ในเงื่อนไขที่ว่าถ้าจะจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อภาระติดพันกับทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานทางทะเบียนให้แก่บุคคลที่มิใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกโดยมิได้รับความยินยอมจากทายาททุกคนแล้ว จะต้องขออนุญาตศาลก่อนเป็นกรณีไปนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องสอดที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเป็นผู้จัดการมรดกโดยหลักแล้วผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1723เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 1 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 5 ปี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1875/2543 เช่นนี้จึงไม่อาจจัดการมรดกได้โดยตนเอง ทั้งเหตุที่ต้องโทษจำคุกก็เนื่องมาจากการเบียดบังทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนในฐานะผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์ ดังนี้ ถือได้ว่ามีพฤติการณ์ที่โจทก์ที่ 1 ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอของโจทก์ที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์