คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5137/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อกล่าวหาของโจทก์ในคดีนี้กับคดีอาญาเรื่องก่อนของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีมูลมาจากเหตุหรือการกระทำอันเดียวกันและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ซึ่งถือว่าได้วินิจฉัยเนื้อหาข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีแล้ว และโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นคดีนี้จึงเป็นอันระงับไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์พจนานุกรมอังกฤษ – ไทย (ฉบับห้องสมุด) โดยเริ่มรวบรวมตั้งแต่ปี 2516 และพิมพ์เผยแพร่และจัดจำหน่ายในประเทศไทยโดยทำเป็นรูปเล่มของหนังสือเมื่อประมาณปี 2525 โดยบริษัทรวมสาส์น (1997) จำกัด และพจนานุกรมอังกฤษ – ไทย ฉบับอื่นๆ อีกหลายฉบับ ต่อมาประมาณปี 2542 โจทก์อนุญาตให้บริษัทโอเพ่นเทค จำกัด นำคำศัพท์ที่รวบรวมเอาไว้ในพจนานุกรมอังกฤษ – ไทย (ฉบับห้องสมุด) ไปดัดแปลงเพื่อทำเป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ แล้วใช้ชื่อสินค้าว่า “ด๊อกเตอร์วิท 8000” จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 และมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 หรือที่ 6 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อประมาณต้นปี 2536 เวลากลางวันและเวลากลางคืนต่อเนื่องกันจนถึงปัจจุบันจำเลยที่ 1 ด้วยความรู้เห็นและสั่งการของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้นำเอาคำศัพท์ที่ได้รับการสร้างสรรค์ของโจทก์ด้วยการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ด้วยสำนวนและแนวความคิดของโจทก์ที่มีลักษณะเฉพาะจำนวนประมาณ 4,000 คำเป็นอย่างน้อย ไปแปลงสภาพจากข้อมูลอันเป็นตัวหนังสือที่จัดพิมพ์ในชื่อพจนานุกรมอังกฤษ – ไทย (ฉบับห้องสมุด) ไปเป็นข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และบันทึกลงในอุปกรณ์ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นสินค้าประเภทพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นสินค้าที่จำหน่ายในชื่อของจำเลยที่ 1 โดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในคำศัพท์ทั้งหมดในสินค้าของจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการทำซ้ำและดัดแปลงข้อมูลคำแปลคำศัพท์ที่สำคัญของโจทก์ในสาระสำคัญ จำนวนประมาณไม่ต่ำกว่า 4,000 คำ จำเลยที่ 1 เริ่มจำหน่ายสินค้าพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ต่อสาธารณชนหลายรุ่น เพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ปราะมาณปลายเดือนเมษายน 2545 โจทก์ได้รับทราบการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 จึงได้ตรวจสอบจนพบการกระทำผิดต่อมาประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2545 โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งหมด แต่พนักงานอัยการมีความเห็นในทางตรงกันข้ามและอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าจำเลยไม่มีเจตนาในการกระทำความผิด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง, 70 วรรคสอง, มาตรา 74 ประกอบมาตรา 27, มาตรา 31, 15, 8, 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้สินค้าของจำเลยที่ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้ค่าปรับจำนวนกึ่งหนึ่งตกเป็นของโจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพราะการกระทำของจำเลยทั้งหกในคดีนี้เป็นการกระทำความผิดคนละวันเวลาแยกต่างหากจากการกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องคดีนี้กับคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้วมีสาระสำคัญเหมือนกัน กล่าวคือ โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์โดยนำเอาคำแปลคำศัพท์จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยของโจทก์จำนวนไม่น้อยกว่า 4,000 คำไปทำซ้ำ ดัดแปลงจากรูปแบบเอกสารเป็นข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เหมือนกัน และยังได้บรรยายฟ้องข้อ 4 และข้อ 5 ว่า ได้เคยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งหกในคดีนี้มาก่อนแล้วและพนักงานสอบสวนมีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้งหก แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยทั้งหกเหมือนกัน แม้ว่าคดีนี้โจทก์จะได้บรรยายวันเวลากระทำผิดในฟ้องข้อ 2 ว่า “เมื่อประมาณต้นปี 2536 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจนถึงปัจจุบัน…” เพิ่มเติมจากคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งไม่ได้ระบุวันเวลากระทำความผิดก็ตาม ก็ยังไม่อาจฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกในคดีนี้เป็นการกระทำความผิดคนละวันเวลาต่างหากจากการกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ประกอบกับปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2548 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้บันทึกไว้ว่า คู่ความร่วมกันแถลงว่า เนื้อหาในการฟ้องร้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และคดีนี้เป็นเรื่องเดียวกันและขอนำคำให้การพยานโจทก์ 2 ปาก ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ คดีจึงฟังได้ว่า โจทก์ยังคงนำการกระทำที่อ้างว่าเป็นความผิดของจำเลยทั้งหกในคดีเดิมมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ได้นำสืบวัตถุพยาน ว.จ.1 ถึง ว.จ.3 ว่าเป็นการละเมิดคนละวันเวลากับการกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ก็เป็นเพียงการนำสืบพยานวัตถุที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งหกได้กระทำความผิดตามฟ้อง มิอาจรับฟังได้ว่าการกระทำความผิดในคดีนี้เป็นการกระทำคนละวันเวลากับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
เมื่อคดีฟังได้ว่า ข้อกล่าวหาของโจทก์ในคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีมูลมาจากเหตุหรือการกระทำอันเดียวกันและคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ดังกล่าว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ซึ่งถือว่าได้วินิจฉัยเนื้อหาข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีแล้ว และโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นคดีนี้จึงเป็นอันระงับไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share