แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าไม่ว่ากรณีใด ๆ โทษจำคุกทั้งสิ้นจะต้องไม่มากกว่าจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้นหาได้ระบุว่าเมื่อมีโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วห้ามมิให้มีโทษปรับด้วยไม่ฉะนั้น ที่ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยตลอดชีวิตโดยให้ปรับ 1,000 บาท ด้วยจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 67, 100, 102พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ลงวันที่17 กันยายน 2522 ข้อ 1(1) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา8 ทวิ, 72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 3, 7ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92, 371 ริบเฮโรอีนของกลาง เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามกฎหมาย นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 105/2533 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรี
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 105/2533 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเคยต้องโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1320/2530 ของศาลจังหวัดลพบุรีและพ้นโทษมาแล้วตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 77 วรรคสองฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเฮโรอีนจำนวนเดียวกันการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งมีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานจำหน่ายเฮโรอีนจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ (ที่ถูกเป็นมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง),72 ทวิ วรรคสองและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา8 ทวิ (ที่ถูกเป็นมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง), 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 1,000 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 3 จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000 บาท จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 25 ปี ทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 105/2533 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรี ที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อนั้น ผลของคดีเป็นอย่างไร จึงไม่นับโทษต่อให้ ส่วนข้อที่ให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ปรากฏจากคำแถลงของโจทก์ในรายงานลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 ว่า คดีหมายเลขแดงที่1164/2533 ของศาลจังหวัดลพบุรี ที่จำเลยที่ 1 เป็นจำเลย คดีถึงที่สุด ศาลพิพากษายกฟ้อง และโทษจำเลยที่ 2 จำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษได้ข้อที่ให้เพิ่มโทษ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงให้ยกเสีย ริบเฮโรอีนของกลาง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวหา จำเลยที่ 1 มีเฮโรอีนจำนวน 2 ถุง หนัก 715 กรัมคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 633 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีนดังกล่าวและจำเลยที่ 3 พาอาวุธปืนสั้นขนาด.32 พร้อมกระสุนปืน ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายติดตัวไปในเมืองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และไม่ใช่กรณีที่ มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในชั้นฎีกามีว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานมีและจำหน่ายเฮโรอีนดังกล่าวหรือไม่ ข้อเท็จจริงและเหตุผลเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษมา
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 จำคุกตลอดชีวิตแล้ว กฎหมายก็ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยต้องรับโทษใด ๆ อีก ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลย 1,000 บาท ด้วย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 บัญญัติว่า”เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้
(1) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(2) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี แต่ไม่เกินสิบปี
(3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต” ซึ่งจะเห็นได้จากบทมาตราดังกล่าวว่า กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่าไม่ว่ากรณีใด ๆ โทษจำคุกทั้งสิ้นจะต้องไม่มากกว่าจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น กฎหมายหาได้ระบุว่าเมื่อมีโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว ห้ามมิให้มีโทษปรับด้วยไม่ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 3 โดยให้ปรับ 1,000 บาทด้วย จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน