คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5115/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ. 2530มาตรา 4 หมายถึงผู้ที่ได้กระทำผิดก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคมพ.ศ. 2530 ซึ่งได้รับโทษและพ้นโทษไปแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยได้กระทำผิดก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 แต่ศาลก็ได้รอการลงโทษไว้ จึงยังถือไม่ได้ว่า จำเลยได้รับโทษและพ้นโทษแล้ว ไม่เข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบที่จะได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยได้มากระทำผิดในคดีนี้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลให้รอการลงโทษไว้ จึงต้องนำโทษในคดีก่อนมาบวกกับโทษในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 97, 107 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92, 58 คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายและบวกโทษของจำเลยที่รอการลงโทษไว้เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเคยต้องโทษ พ้นโทษและมีโทษที่รอการลงโทษตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วพิพากษายกฟ้อง คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 ประกอบด้วยมาตรา 66วรรคหนึ่ง แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายเฮโรอีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 ประกอบด้วยมาตรา 66 วรรคหนึ่ง เพียงบทเดียว จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมชั้นสอบสวนและนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือนคืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ คำขอให้เพิ่มโทษและบวกโทษให้ยก
โจทก์ฎีกาขอให้บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษของจำเลย โดยอธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่า มีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดของจำเลยข้อหามีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีน ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี 4 เดือนนั้น โจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว คดีจึงฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามข้อหาดังกล่าวนั้นจริงและก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดฐานเสพกัญชา ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4752/2529 และ 16154/2529ของศาลแขวงพระนครใต้ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2529 และวันที่ 20พฤศจิกายน 2529 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1334/2530 และ 1664/2530ของศาลแขวงพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2530 และวันที่ 8เมษายน 2530 ตามลำดับ ให้ลงโทษจำคุกมีกำหนดคดีละ 15 วัน ปรับคดีละ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคดีละ 1 ปี
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นำคดีที่ศาลรอการลงโทษจำเลยไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ ชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา60 พรรษา พ.ศ. 2530 ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ว่า “ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2530 โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ” นั้นผู้ที่จะได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ จึงหมายถึงผู้ที่ได้กระทำความผิดก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ซึ่งได้รับโทษและพ้นโทษไปแล้ว แต่สำหรับคดีก่อนของจำเลยนั้นแม้จะได้กระทำผิดก่อนวันที่ 5ธันวาคม พ.ศ. 2530 ก็ตาม แต่ศาลก็ให้รอการลงโทษไว้ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับโทษและพ้นโทษไปแล้ว กรณีของจำเลยไม่เข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบที่จะได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ ดังนั้น เมื่อจำเลยได้มากระทำผิดในคดีนี้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลให้รอการลงโทษไว้จึงต้องนำโทษในคดีก่อนมาบวกกับโทษในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษาพ.ศ. 2530 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำโทษจำคุกของจำเลยที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีก่อนคดีละ 15 วัน รวม 4 คดี บวกเข้ากับโทษคดีหลัง คงเป็นโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน 60 วัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share