คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5114/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำให้การของจำเลยที่ยื่นต่อศาลมีความว่า “จำเลยได้มาอาศัยอยู่กับ ม.ซึ่งหลบหนีไปแล้ว วันเกิดเหตุผู้เสียหายมาสมัครไปทำงานต่างประเทศกับ ม. ม.ให้จำเลยเขียนใบรับเงินให้เนื่องจากเห็นว่าจำเลยมีความรู้และขณะนั้นเสมียนไม่มาทำงาน แล้วผู้เสียหายมอบเงินให้ ม.จำเลยไม่รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด แต่เมื่อเป็นความผิดจำเลยก็รับสารภาพ……….” ดังนี้ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นคำให้การที่รับสารภาพว่าจำเลยได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องเมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน จึงลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน จำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 จำคุก 3 ปีตามพระราชบัญญัติจัดหางานฯ พ.ศ. 2511 จำคุก 1 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน 15 วัน จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษโดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำให้การของจำเลยที่ยื่นต่อศาลนั้นมีใจความว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์แต่จำเลยกระทำผิดเป็นครั้งแรกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือ จำเลยได้มาอาศัยอยู่กับนายมนัส ล้อตระกูล ผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งหลบหนีไปแล้ว วันเกิดเหตุผู้เสียหายมาสมัครไปทำงานในต่างประเทศกับผู้ต้องหาที่ 2 ผู้ต้องหาที่ 2 ให้จำเลยเขียนใบรับเงินให้เนื่องจากเห็นว่า จำเลยมีความรู้และขณะนั้นเสมียนไม่มาทำงานแล้วผู้เสียหายได้มอบเงินให้แก่ผู้ต้องหาที่ 2 จำเลยไม่รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดดังฟ้องแต่เมื่อเป็นความผิดจำเลยก็ให้การรับสารภาพและผู้ต้องหาที่ 2 ได้ชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายแล้ว ส่วนข้อความต่อจากนั้นจำเลยขอให้ศาลชั้นต้นรอการลงโทษแก่จำเลย ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามคำให้การที่ยื่นต่อศาล โจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ดังนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคำให้การของจำเลยดังกล่าวเมื่ออ่านรวมกันทั้งฉบับแล้วเป็นเรื่องจำเลยรับว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ซึ่งเป็นความผิดตามฟ้องเท่านั้น จำเลยไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับนายมนัส ล้อตระกูลหรือผู้อื่นแต่ประการใด เหตุที่จำเลยให้การรับสารภาพน่าจะเป็นเพราะจำเลยเข้าใจว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดก็เป็นได้คำให้การของจำเลยในคดีนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นคำให้การรับสารภาพว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานคดีจึงลงโทษจำเลยไม่ได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share