แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวตกแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ให้การปฏิเสธในข้อที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นแล้ว และไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งถือว่าคู่ความรับกันแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 220,789.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 210,275.33 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 6,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยรถกระบะ หมายเลขทะเบียน ฒค 8102 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายวินัย ผู้เอาประกันภัย ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 81-6096 ขอนแก่น เฉี่ยวชนกับรถกระบะ หมายเลขทะเบียน ฒค 8102 กรุงเทพมหานคร ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหาย พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วลงความเห็นว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียวที่เปลี่ยนช่องเดินรถเข้าไปในช่องเดินรถของรถกระบะอย่างกะทันหัน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย และยอมให้พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบปรับแล้ว หลังเกิดเหตุโจทก์ดำเนินการซ่อมรถกระบะให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม โดยโจทก์จ่ายค่าซ่อมให้แก่บริษัทออโต้เทคนิค (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้กระทำละเมิดและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 160,000 บาท นั้น ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าว และภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตกแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ซึ่งให้การร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ให้การปฏิเสธในข้อที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นแล้ว และไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งถือว่าคู่ความรับกันแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 (3) ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ