แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งหกฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้แก่โจทก์ทั้งหกคนละ 7 ตารางวา เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ ช. เจ้ามรดกแต่ผู้เดียวโจทก์ทั้งหกไม่มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งหกฎีกาว่าโจทก์ทั้งหกมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง แม้โจทก์ทั้งหกจะฟ้องและฎีการวมกันมาแต่กรรมสิทธิ์ที่โจทก์ขอแบ่งซึ่งแต่ละคนกล่าวอ้างสามารถแยกต่างหากจากกันได้ ราคาทรัพย์สินที่พิพาทในชั้นฎีกาย่อมต้องถือตามราคาที่ดินที่โจทก์แต่ละคนอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์รวมเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่เมื่อโจทก์ทั้งหกตีราคาที่ดินพิพาททั้งหมดเป็นเงิน 1,200,000บาท ดังนั้นราคาที่ดินพิพาทที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งเมื่อคำนวณแล้วมีราคา 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์แต่ละคนฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหก นายวิชาญหรือหลีจุ้ง แซ่ขอหรือขจรวิทยากุล และนางสาวถ้ำยืด แซ่ขอ เป็นบุตรนายขอเห้ง แซ่ขอ นายวิชาญเป็นบิดาจำเลยที่ 1 และเป็นสามีจำเลยที่ 2 เมื่อประมาณปี 2504 นายขอเห้งได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งเนื้อที่ 56 3/10 ตารางวา จากนายฉาหรือปรีชา อับดุลลาในราคา8,000 บาท โดยยังไม่ได้จดทะเบียนโอนแล้วได้ปลูกบ้านเลขที่ 206/10-11ลงในที่ดินให้ผู้อื่นเช่า ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2512 นายขอเห้งได้มอบหมายให้นายวิชาญไปจดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อและรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวแทนโจทก์ทั้งหกและนางสาวถ้ายืด ซึ่งขณะนั้นได้มีการออกโฉนดสำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นโฉนดเลขที่ 1832โจทก์ทั้งหก นายวิชาญและนางสาวถ้ำยืดจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว ปี 2518 โจทก์ทั้งหก นายวิชาญและครอบครัวได้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านที่ปลูกไว้ดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 12ตุลาคม 2536 นายวิชาญถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิชาญตามสำเนาคำร้องท้ายฟ้องโจทก์ทั้งหกได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งหก ซึ่งโจทก์แต่ละคนมีกรรมสิทธิ์คนละ7 ตารางวา จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิชาญแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1832ให้แก่โจทก์ทั้งหกคนละ 7 ตารางวา ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน หากไม่อาจแบ่งแยกที่ดินได้ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งตามส่วน
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินและบ้านเลขที่ 206/10-11ตามฟ้องเป็นของนายวิชาญ นายวิชาญทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในฐานะผู้ซื้อ ไม่ได้ดำเนินการแทนโจทก์ทั้งหกและนางสาวถ้ำยืด หลังจากนายวิชาญปลูกบ้านในที่ดินดังกล่าวแล้วโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้ขออาศัยประกอบการค้าเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิชาญแล้ว จำเลยทั้งสองฝ่ายหนึ่งกับโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6อีกฝ่ายหนึ่ง ได้ทำบันทึกข้อตกลงกันเป็นหนังสือโดยจำเลยทั้งสองย่อมแบ่งแยกที่ดิน 28 ตารางวา พร้อมบ้านอีก 1 คูหาให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นการระงับข้อพิพาทที่จะมีขึ้นให้เสร็จไป โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงฯลฯ” คดีนี้โจทก์ทั้งหกฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้แก่โจทก์คนละ 7 ตารางวา รวม 54 ตารางวา เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนายวิชาญขจรวิทยากุล เจ้ามรดกแต่ผู้เดียว โจทก์ทั้งหกไม่มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งหกฎีกาว่าโจทก์ทั้งหกมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง แม้โจทก์ทั้งหกจะฟ้องและฎีการวมกันมา แต่กรรมสิทธิ์ที่โจทก์ขอแบ่งซึ่งแต่ละคนกล่าวอ้างสามารถแยกต่างหากจากกันได้ ราคาทรัพย์สินที่พิพาทในชั้นฎีกาย่อมต้องถือตามราคาที่ดินที่โจทก์แต่ละคนอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์รวมเป็นเกณฑ์ ในการพิจารณาว่าต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่ เมื่อโจทก์ทั้งหกตีราคาที่ดินพิพาทจำนวน54 ตารางวาเป็นเงิน 1,200,000 บาท ดังนั้นราคาที่ดินพิพาทเนื้อที่ 7 ตารางวา ที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งเมื่อคำนวณแล้วมีราคา 200,000 บาท ไม่เกินกำหนดและต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ทั้งหก