แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อพ้นกำหนดอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ 21 มิถุนายน2528 แล้ว จำเลยยังคงเบิกเงินเกินบัญชีต่อไป และยังมีการนำเงินเข้าบัญชีอยู่อีก ซึ่งโจทก์ก็ยอมถือได้ว่าคู่กรณีได้ตกลงกันขยายอายุสัญญาออกไปโดยปริยายเช่นนี้สัญญาจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 859 ปรากฏว่าโจทก์ได้หักทอนบัญชีและแจ้งให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นคู่กรณีชำระหนี้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2531 ซึ่งมีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 การเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นในช่วงเวลาตั้งแต่ 21 มิถุนายน 2528 ถึงก่อนวันที่31 มีนาคม 2531 จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ความข้อนี้มีความสำคัญเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาในชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองก็ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2527 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ สาขาถนนมิตรภาพ จำนวนเงิน4,000,000 บาท และจำเลยทั้งสองจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ต่อโจทก์ เมื่อสัญญาครบกำหนดโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเป็นหนี้โจทก์ต่อไปจึงได้ทวงถามจำเลยทั้งสองพร้อมบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย คิดยอดหนี้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,965,995.30 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 6,965,995.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 6,410,155.77 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนอง และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า หนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้องคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 21มิถุนายน 2528 แต่โจทก์ยังคิดดอกเบี้ยทบต้นตลอดมา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์4,610,384.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่31 ธันวาคม 2528 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 และดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ17 ต่อปี ของยอดเงินวันที่ 1 มกราคม 2529 จากวันที่ 2 มกราคม 2529ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แบบทบต้นของยอดเงินวันที่ 4 มีนาคม 2529 นับจากวันที่ 5 มีนาคม 2529 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2531 และให้ถือยอดเงินวันที่ 31 มีนาคม 2531คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นร้อยละ 15 ต่อปี จากวันที่ 1 เมษายน 2531เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นเฉพาะดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นจากวันที่ 1 เมษายน 2531 ถึงวันฟ้อง (วันที่ 28 ตุลาคม2531) ต้องไม่เกิน 555,839.53 บาท หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยทั้งสองนำสืบรับกัน และไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ สาขาถนนมิตรภาพ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยทั้งสองได้จำนองที่ดินหลายแปลงเป็นประกันหลังจากจำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์มาจนพ้นกำหนดอายุสัญญาแล้วโจทก์คิดบัญชีเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และนำคดีมาฟ้อง กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเพียงว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 5 ของเดือนนั้นเป็นข้อสัญญาเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติของจำเลยที่ 1 จะได้ไม่ต้องรีบร้อนนำดอกเบี้ยไปชำระทันทีในวันสิ้นเดือนซึ่งเท่ากับให้โอกาสแก่จำเลยในการชำระดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนการคิดดอกเบี้ยตามประเพณีของธนาคารซึ่งหมายถึงการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั้น โจทก์มีสิทธิคิดได้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ข้อ 3 ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในบัญชีกระแสรายวันว่าโดยปกติแล้วโจทก์จะคิดดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือนหรือวันทำการสุดท้ายของเดือน และส่งคู่ฉบับบัญชีกระแสรายวันนั้นมาให้จำเลยที่ 1ตรวจดูเป็นประจำเพื่อจะได้ทราบจำนวนหนี้ และตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีข้อ 5 กำหนดไว้ว่าให้จำเลยที่ 1 แจ้งยืนยันความถูกต้องของยอดจำนวนหนี้ซึ่งหมายถึงทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยนั่นเองภายใน2 สัปดาห์ นับแต่วันได้รับแจ้งจากโจทก์ ถ้าไม่แจ้งให้โจทก์ทราบภายในกำหนดดังกล่าว ถือว่ายอดหนี้นั้นถูกต้องแล้ว ซึ่งก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับคู่ฉบับบัญชีกระแสรายวันที่โจทก์แจ้งมาแล้วจำเลยที่ 1 ไม่เคยแจ้งทักท้วงว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดเลยแม้แต่ครั้งเดียว แสดงว่าจำเลยที่ 1 เองก็ยอมรับแล้วว่า จำนวนหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตามบัญชีกระแสรายวันถูกต้องแล้ว เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีรายนี้ครบกำหนดเวลา 12 เดือนแล้ว จำเลยที่ 1ยังคงเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีก ครั้นวันที่ 31 มีนาคม 2531 โจทก์จึงหักทอนบัญชีและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แสดงชัดว่าเมื่อพ้นกำหนดอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ 21 มิถุนายน 2528 แล้วจำเลยยังคงเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปจริง และยังมีการนำเงินเข้าบัญชีอยู่อีก ซึ่งโจทก์ก็ยอม ดังเช่น เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2528เบิกออกไป 2,210 บาท เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2528 นำเข้าฝาก10,000 บาท ถือได้ว่าคู่กรณีได้ตกลงกันขยายอายุสัญญาออกไปโดยปริยายซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้สัญญาจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859เมื่อปรากฏต่อมาว่าโจทก์ได้หักทอนบัญชีและแจ้งให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นคู่กรณีชำระหนี้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2531 ซึ่งมีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 การเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2528 ถึงก่อนวันที่ 31มีนาคม 2531 จึงไม่ขัดต่อกฎหมายความข้อนี้มีความสำคัญเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาในชั้นอุทธรณ์ แต่จำเลยทั้งสองยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยในข้อนี้ด้วย
พิพากษายืน