คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5104/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “LOVEMAN” ของโจทก์ร่วม กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งใช้อักษรโรมันคำว่า “K LOVE MANDESIGN” ประดิษฐ์ขึ้นเป็นรูปครึ่งตัวคนสวมหมวกเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำเหมือนกัน และใช้อักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างมีคำว่า “LOVE MAN” เหมือนกัน สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวเป็นสินค้าชนิดเดียวกันคือเสื้อเชิ้ต แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมจะเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ที่เขียนขึ้นโดยมิได้ประดิษฐ์เป็นรูปครึ่งตัวคนสวมหมวกอย่างเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 และเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 มีอักษร “K” และคำว่า “DESIGN” กับประดิษฐ์ตัวอักษรคำว่า “DESIGN” ให้ใหญ่กว่าคำว่า “LOVEMAN” มาก แต่ก็ปรากฏตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าอักษร “K” กับคำว่า “DESIGN” ซึ่งแปลว่า การออกแบบ เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายซึ่งจำเลยที่ 2 ได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรและคำดังกล่าว สาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำว่า “LOVE MAN” ที่เหลืออยู่ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมจะเขียนตัวอักษรคำว่า “LOVE” ติดกับคำว่า “MAN” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2วางตัวอักษรคำว่า “LOVE” อยู่บนคำว่า “MAN” ก็ตาม แต่ก็อ่านออกเสียงว่า”เลิฟแมน” เหมือนกัน เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมและของจำเลยที่ 2ใช้กับสินค้าเสื้อเชิ้ตเช่นเดียวกัน ประชาชนผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวอาจเรียกสินค้าเสื้อเชิ้ตของโจทก์ร่วมและของจำเลยทั้งสองที่มีไว้เพื่อจำหน่ายว่า “เสื้อเลิฟแมน” เหมือนกันดังนี้ ประชาชนผู้ซื้อสินค้าย่อมเกิดความสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้านั้นได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายจนนับได้ว่าเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าคำว่า “LOVEMAN” ของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้ว
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าเสื้อเชิ้ตของกลางที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “LOVEMAN” ของโจทก์ร่วม โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าสินค้าเสื้อเชิ้ตนั้นมีเครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา110 (1) ประกอบด้วยมาตรา 109 และ ป.อ.มาตรา 83

Share