คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามสัญญาจ้างระบุว่าการว่าจ้างอาจจะถูกบอกเลิกได้โดยการที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหนังสือแจ้งล่วงหน้าหนึ่งเดือนหรือจ่ายค่าสินไหมทดแทนเท่ากับเงินเดือนหนึ่งเดือนแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ตามแต่การบอกเลิกจ้างดังกล่าวก็จะต้องมีเหตุอันสมควรมิฉะนั้นจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา49ได้จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์หนึ่งเดือนแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้วแต่ไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุแห่งการเลิกจ้างการเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยจะต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้โจทก์ฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจะไม่ได้ระบุว่าเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างไว้โดยตรงก็ตามแต่เมื่ออ่านคำฟ้องที่บรรยายประกอบกันก็เข้าใจได้ว่าเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทำให้โจทก์ไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิในวันที่ยังเหลืออยู่14วันและโจทก์มาฟ้องเรียกเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแทนในวันดังกล่าวฟ้องโจทก์จึงเข้าใจได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับปีที่เลิกจ้างโจทก์ซึ่งยังมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออยู่14วันนั่นเองฟ้องโจทก์ในส่วนที่เรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงไม่เคลือบคลุม อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลแรงงานที่ไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยถอนตัวและสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบเพราะจำเลยไม่นำพยานมาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลยเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา54ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2535 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งผู้จัดการโครงการ ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือนเดือนละ 202,898 บาท ค่าเช่าบ้านเดือนละ80,000 บาท ค่าสาธารณูปโภคสำหรับพักอาศัยเดือนละประมาณ 7,500บาท ค่าโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศเดือนละ 500 บาท และค่าโทรศัพท์ภายในประเทศเดือนละ 400 บาท รวมเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 291,298 บาท ต่อมาวันที่ 6 เมษายน 2537 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามสัญญาจ้างแรงงานโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 4 สัปดาห์ โจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีอีก 14 วัน และตามสัญญาจ้างแรงงานจำเลยจะต้องจัดหาและชำระค่าตั๋วเครื่องบินโดยสารไปกลับกรุงเทพ-เมืองดัลลัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้แก่โจทก์และภรรยาราคาที่นั่งละ 85,055 บาท สำหรับการหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งโจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าว กับจำเลยลดเงินเดือนของโจทก์ลงเดือนละ 7,342 บาท ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2536 ถึงเดือนเมษายน2537 เป็นเวลา 10 เดือน เป็นเงิน 73,420 บาท ทั้งจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าใช้จ่ายในการขนย้ายครอบครัวและทรัพย์สินกลับประเทศสหรัฐอเมริกาตามสัญญาจ้าง ขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 291,298 บาท ค่าชดเชย 873,984บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 135,939 บาทค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินไปกลับกรุงเทพ-เมืองดัลลัส สำหรับโจทก์เป็นเงิน 141,758 บาท และสำหรับภรรยาโจทก์ในการเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านครึ่งปีเป็นเงิน 85,055 บาท ค่าใช้จ่ายในการขนย้ายครอบครัวและสัมภาระกลับประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเงิน366,582 บาท เงินเดือนที่จำเลยจ่ายขาด 73,420 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 4,078,172 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์ในอัตราค่าจ้างเดือนละ202,898 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำเลยจ่ายให้ตามความเป็นจริงซึ่งมิใช่ค่าจ้างที่จำเลยลดค่าจ้างโจทก์เป็นการลดโดยความยินยอมของโจทก์เอง และจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญาจ้างต่อกันหรือโจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างด้วยความสมัครใจ และตามสัญญาจ้างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งโจทก์ไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2537 จึงถือว่าโจทก์สมัครใจเลิกสัญญาจ้างเองหรือมิฉะนั้นเป็นกรณีโจทก์ขาดงานเกิน 3 วันทำงานโดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้ สำหรับค่าตั๋วเครื่องบินโดยสารกรุงเทพ-เมืองดัลลัส นั้น โจทก์ยังทำงานไม่ครบรอบปีที่ 2 ทั้งสัญญาเลิกกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับและราคาต่อคนต่อเที่ยวไม่เกิน 33,500 บาท ส่วนค่าขนย้ายสูงเกินความจริง ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายว่าเป็นวันหยุดพักผ่อนสำหรับปีใดขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างส่วนที่ขาด73,420 บาท ค่าชดเชย 608,694 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 405,796 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี94,685,73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 มิถุนายน 2537) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าการจ้างงานระหว่างโจทก์จำเลยมีสัญญาจ้างต่อกัน ซึ่งมิได้กำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่ชัด เพียงแต่กำหนดว่าประมาณ 3 ปี และสัญญาระบุว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาจ้างได้โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือถึงอีกฝ่ายหนึ่ง หรือจ่ายเงินทดแทนเท่ากับเงินเดือนหนึ่งเดือนแทนการบอกกล่าวได้ เมื่อจำเลยใช้สิทธิตามข้อตกลงระหว่างกันดังกล่าวย่อมถือว่ามีอำนาจทำได้โดยชอบมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่า แม้ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่า การว่าจ้างอาจจะถูกบอกเลิกได้โดยการที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหนังสือแจ้งล่วงหน้าหนึ่งเดือนหรือจ่ายค่าสินไหมเท่ากับเงินเดือนหนึ่งเดือนแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ตาม แต่การบอกเลิกจ้างดังกล่าวก็จะต้องมีเหตุอันสมควรมิฉะนั้นจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ได้เมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่6 เมษายน 2537 โดยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์หนึ่งเดือนแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเช่นนี้การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจะต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า ฟ้องโจทก์ส่วนที่เรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเวลา 14 วัน เคลือบคลุมคำฟ้องโจทก์ต้องแสดงโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ประสงค์จะเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปีใด เพื่อให้จำเลยสามารถตรวจสอบและต่อสู้ได้ถูกต้อง เห็นว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวบรรยายว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2537 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด โจทก์ทำงานมาแล้วเกิน 1 ปีโจทก์จึงมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ตามที่กำหนดในสัญญาจ้างปีละ 4 สัปดาห์ คือประมาณ 1 เดือน โจทก์ยังเหลือวันหยุดพักผ่อนประจำปีอีก 14 วัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีแต่ไม่ได้หยุดโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าวเป็นเงิน 135,939 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายเงินส่วนนี้แก่โจทก์และเห็นว่าแม้ฟ้องโจทก์จะไม่ได้ระบุว่าเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างไว้โดยตรงก็ตาม แต่เมื่ออ่านคำฟ้องที่บรรยายดังกล่าวข้างต้นประกอบกันก็เข้าใจได้ว่าเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทำให้โจทก์ไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิในวันที่ยังเหลืออยู่ 14 วัน และโจทก์มาฟ้องเรียกเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแทนในวันดังกล่าวฟ้องโจทก์จึงเข้าใจได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับปีที่เลิกจ้างโจทก์ ซึ่งยังมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออยู่ 14 วัน นั่นเอง ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ทนายจำเลยคนเดิมยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความตามคำร้องลงวันที่ 1 ธันวาคม 2538ศาลแรงงานกลางสั่งว่า ไม่ปรากฏว่าตัวความได้รับทราบเกี่ยวกับทนายความขอถอนตัว จึงไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยถอนตัว ให้คงทำหน้าที่ทนายความต่อไป เมื่อถึงวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยไม่มีพยานมาศาลถือได้ว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานตามที่ทนายจำเลยได้แถลงไว้และได้อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังในวันเดียวกัน ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2538 จำเลยเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 65 กล่าวคือ เมื่อทนายจำเลยขอถอนตัวจากการเป็นทนายและทนายจำเลยมิได้มาศาลในวันนัด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับทราบคำร้องนั้นแล้ว กรณีเช่นนี้คดีไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ศาลชอบที่จะส่งสำเนาคำร้องทนายจำเลยที่ขอถอนตัวให้จำเลยทราบ เพื่อให้โอกาสจำเลยแต่งตั้งทนายจำเลยคนใหม่เข้าดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปการที่ศาลแรงงานกลางมิได้แจ้งคำร้องขอถอนตัวของทนายจำเลยให้จำเลยทราบ แต่กลับมีคำสั่งไม่อนุญาตและมีคำสั่งว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานเสียทีเดียวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยถอนตัวและสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบเพราะจำเลยไม่นำพยานมาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลย จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share