แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตามสัญญาจ้างระบุว่า การว่าจ้างอาจจะถูกบอกเลิกได้โดยการที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหนังสือแจ้งล่วงหน้าหนึ่งเดือน หรือจ่ายค่าสินไหมเท่ากับเงินเดือนหนึ่งเดือนแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ตาม แต่การบอกเลิกจ้างดังกล่าวก็จะต้องมีเหตุอันสมควร มิฉะนั้นจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49ได้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์หนึ่งเดือนแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุแห่งการเลิกจ้าง การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจะต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์
แม้ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจะไม่ได้ระบุว่าเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างไว้โดยตรงก็ตาม แต่เมื่ออ่านคำฟ้องที่บรรยายประกอบกันก็เข้าใจได้ว่า เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทำให้โจทก์ไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิในวันที่ยังเหลืออยู่ 14 วันและโจทก์มาฟ้องเรียกเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแทนในวันดังกล่าวฟ้องโจทก์จึงเข้าใจได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับปีที่เลิกจ้างโจทก์ ซึ่งยังมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออยู่ 14 วัน นั่นเองฟ้องโจทก์ในส่วนที่เรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงไม่เคลือบคลุม
อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลแรงงานที่ไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยถอนตัวและสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบเพราะจำเลยไม่นำพยานมาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลยเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้