คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยกับ อ. ข้อ 2 วรรคสองที่กำหนดไว้ว่า “ส่วนเงินที่เหลือจำนวน 6,900,000 บาท ผู้ซื้อจะต้องชำระให้แก่ผู้ขายครบถ้วนในวันที่ผู้ขายไปจดทะเบียนขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ หรือบุคคลอื่นที่ผู้ซื้อกำหนดเป็นผู้รับโอนแทน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดิน” นั้น มิได้มีข้อความใดที่แสดงว่า จำเลยกับ อ.ตกลงกันให้ อ.โอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่บุคคลอื่นแต่อย่างใดได้เลย ข้อความดังกล่าว เป็นเพียงข้อความต่อเนื่องจากวรรคหนึ่ง เกี่ยวกับการชำระราคาที่พิพาทว่าจะชำระกันอย่างไร เมื่อใด โดยระบุเป็นข้อตกลงไว้ว่า ผู้รับโอนที่พิพาทอาจเป็น อ.ผู้ซื้อ หรือหากไม่รับโอนด้วยตนเองก็จะให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับโอนแทนก็ได้ คำว่า “บุคคลอื่น” จึงมีความหมายเพียงเป็นบุคคลผู้ที่จะมีชื่อในขณะที่รับโอนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อการซื้อขายนั้นสำเร็จสมบูรณ์แทนชื่อของผู้ซื้อที่แท้จริงเท่านั้น คู่สัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทรายนี้ก็คือ จำเลยกับ อ.
โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องว่า จำเลยยินยอมให้ อ.โอนสิทธิการซื้อที่พิพาทให้แก่โจทก์ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 349 วรรคสาม ซึ่งจะต้องบังคับตามมาตรา 306 เรื่องโอนสิทธิเรียกร้องเมื่อไม่ปรากฏว่า การโอนหนี้ระหว่างโจทก์กับ อ.ได้ทำเป็นหนังสือ การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ ไม่อาจใช้ยันจำเลยได้ และมิใช่เป็นกรณีรับช่วงสิทธิตาม ป.พ.พ.มาตรา 226 ส่วนการที่โจทก์ทำสัญญาเป็นหุ้นส่วนกับ จ.และ อ.ในการซื้อที่พิพาทเพื่อนำไปขายเอากำไร ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้เป็นหุ้นส่วนกันเอง จำเลยมิได้รู้เห็นหรือรับรู้ด้วยแต่อย่างใด ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทจาก อ. โจทก์มิใช่คู่สัญญากับจำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

Share