คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้สลักหลังเช็คผู้ถือเพื่อรับประกันการจ่ายเงินต้องรับผิดในฐานเป็นผู้รับอาวัลสำหรับตัวผู้สั่งจ่าย โดยไม่ต้องทำตามแบบอาวัลทั่วไป

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใช้ชื่อว่าเอี้ยวง้วนพาณิชย์ โดยมีนายชอติ่งหรือเซียวพวง แซ่อึ้ง เป็นผู้จัดการ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2496 จำเลยที่ 1 โดยนายเซียวพวง แซ่อึ้ง หุ้นส่วนผู้จัดการได้สั่งจ่ายเช็คของธนาคารตันเป็งชุงเลขที่ บี. 627599 เป็นเงิน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้สลักหลังเช็คเพื่อรับรองเป็นประกันสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่าย จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เพื่อใช้เงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์โจทก์ได้นำเช็คไปขอเบิกเงินจากธนาคาร ธนาคารแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายมีเงินเหลือในบัญชีไม่พอจ่าย ธนาคารจึงงดไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้ง 3 ทราบ เพื่อนำเงินมาชำระจำเลยเพิกเฉยเสียจึงขอให้บังคับจำเลยทั้ง 3 ร่วมกันใช้เงิน 30,000บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ กับใช้ค่าธรรมเนียม ค่าทนายความ แทนโจทก์ด้วย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2-3 ให้การต่อสู้ว่า ไม่ใช่ผู้สลักหลังเช็ค เช็คฉบับนี้ไม่เคยโอนผ่านมือผู้ใด จำเลยที่ 2-3 ไม่อาจเป็นผู้สลักหลังเช็คได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงชื่อประทับดวงตราหลังเช็คภายหลังที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์แล้ว แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะลงชื่อไว้หลังเช็คจริง ก็ไม่ใช่การสลักหลังเช็คตามกฎหมาย ไม่ต้องรับผิด และโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ตามเช็คให้แก่จำเลยที่ 1ผู้สลักหลังทั้งปวงย่อมหลุดพ้นความรับผิด และได้ตัดฟ้องในปัญหาข้อกฎหมายว่า การสลักหลังรับรองเป็นประกันเช็ครายนี้ ไม่ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 939 คือไม่ปรากฎถ้อยคำสำนวนว่าใช้ได้เป็นอาวัลหรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น บนเช็ค จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด และฟ้องเดิมกับฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์ขัดกันในฐานะความรับผิดของจำเลยที่ว่าจำเลยเป็นผู้สลักหลังหรือผู้รับรองประกัน (อาวัล) ฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุม

ในการชี้สองสถานโจทก์แถลงว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2-3 ในฐานะที่ได้ลงชื่อสลักหลังเช็คเป็นผู้รับประกันผู้สั่งจ่าย โดยเมื่อจำเลยที่ 1 นำเช็คฉบับนี้มามอบให้โจทก์เพื่อรับเงินจากโจทก์ไปโจทก์ไม่เชื่อถือจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2-3 จึงมาลงชื่อสลักหลังเช็คเป็นการรับประกันโจทก์จึงยอมจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ไป

จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับว่าได้ลงชื่อในหลังเช็คที่พิพาทจริงแต่โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้นำเช็ครายพิพาทนี้มาขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงชื่อในหลังเช็คฐานรับรู้เป็นพยานเท่านั้น ไม่ได้ลงชื่อในฐานะเป็นผู้รับประกันจำเลยที่ 1

คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2-3 ทั้งสองฝ่ายแถลงว่า ไม่ติดใจนำสืบข้อเท็จจริงต่อไป โดยขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่าการที่จำเลยที่ 2-3ลงชื่อในหลังเช็คเฉย ๆ เช่นนี้ จะต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 หรือไม่

ส่วนคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคำให้การ โจทก์มีหน้าที่นำสืบคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ต่อไป

วันนัดพิจารณาจำเลยทุกคนไม่มาศาล ศาลดำเนินการสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียว คงได้ความว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2496 จำเลยที่ 1 ได้เอาเงินของโจทก์ไป 30,000 บาท และจำเลยที่ 1 ออกเช็คธนาคารตันเป็งชุนเลขที่ บี. 627599 จ่ายเงิน 30,000 บาท เป็นเช็คสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ให้โจทก์ยึดถือไว้ ในการที่จำเลยที่ 1ออกเช็คให้โจทก์นี้โจทก์ไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะมีเงินตามเช็คนั้น จึงขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับรอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เซ็นชื่อลงด้านหลังของเช็คตามเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ได้นำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารธนาคารแจ้งว่าบัญชีจำเลยที่ 1 มีเงินไม่พอจ่าย และไม่จ่ายเงินให้โจทก์ โจทก์ได้ติดต่อทวงถามก็ไม่ได้ จึงมาฟ้องต่อศาล

ข้อเท็จจริงได้ความดังนี้ เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายย่อมมีความรับผิด ต้องใช้เงินให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 914

ปัญหาต่อไปสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งลงชื่อในหลังเช็คเฉย ๆ เช่นนี้ จะต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 หรือไม่

ศาลแพ่งได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เช็คที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์นั้น เป็นเช็คสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือของตนไว้ในด้านหลังเช็ค ย่อมมีความหมายเป็นการสลักหลังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 919 วรรคท้ายและการสลักหลังเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือเช่นนี้ ย่อมเป็นประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 โดยไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 939 ฉะนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้รับประกันจำเลยที่ 1 และย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 940

จึงพิพากษาให้จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันใช้เงิน 30,000 บาท ให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความ 500 บาทแทนโจทก์ด้วย

จำเลยที่ 2 และ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำว่า “สลักหลัง” ในบทบัญญัติของ มาตรา 921แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องเป็นการสลักหลังโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เซ็นชื่อลงไปด้านหลังเช็คแล้วเป็นการสลักหลังเสมอไปกล่าวคือ ถ้าไม่มีการโอนไปซึ่งสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วแลกเงิน (ซึ่งรวมถึงเช็ค) การเซ็นชื่อด้านหลังก็ไม่ใช่การสลักหลังตามกฎหมายทั้งนี้ตามนัยแห่ง มาตรา 914 และมาตรา 920 วรรคแรกด้วย ส่วนมาตรา 919 วรรคท้าย เป็นแต่เพียงบัญญัติว่าวิธีสลักหลังจะต้องกระทำอะไรบ้างเท่านั้น หาได้บัญญัติถึงสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วแลกเงินอันเนื่องจากการสลักหลังนั้นไม่ คดีนี้จำเลยที่ 2 และ 3 ไม่ใช่ผู้โอนเช็ค เพียงแต่เซ็นชื่อด้านหลังเช็คเฉย ๆ ไม่ใช่ผู้สลักหลังเช็คตามกฎหมาย ไม่เข้าเกณฑ์ มาตรา 921 ทั้งจำเลยที่ 2 และ 3 ไม่ได้เซ็นชื่อด้านหน้าของเช็คหรือเขียนถ้อยคำด้านหลังเช็คว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” ข้างบนของลายเซ็นของจำเลยที่ 2 และ 3 ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 939 วรรค 2 และ 3 เหตุนี้จำเลยที่ 2 และ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 และ 3 เสีย ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมและค่าทนาย 2 ศาล 600 บาท แทนจำเลยที่ 2 และ 3 นอกจากนี้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว เห็นฟ้องกับข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่าจำเลยที่ 2 และ 3 ต้องรับผิด การที่จำเลยที่ 2 และ3 ลงลายมือชื่อของตนไว้ในด้านหลังเช็คเช่นนี้ย่อมมีผลเป็นการโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่เช็คนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 920 ไม่ต้องทำการโอนกันตามมาตรา 306 อีก และไม่ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 939 วรรค 2 และ 3 เพราะมาตรา 921 บัญญัติไว้เป็นพิเศษแล้ว อนึ่ง มาตรา 900 ก็บัญญัติไว้ว่า บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน (ซึ่งรวมทั้งเช็ค) ย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น จำเลยที่ 2 และ 3 จึงต้องรับผิด ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลแพ่ง ให้จำเลยที่ 2 และ 3 เสียค่าธรรมเนียมในชั้นนี้ และค่าทนาย 500 บาท แทนโจทก์ด้วย

Share