คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5078/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้ในฐานะส่วนตัวของโจทก์เอง ส่วนปัญหาที่ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของสมาชิกกลุ่มสวัสดิการซึ่งสมาชิกของกลุ่มต่างเป็นเจ้าของร่วมกันนั้นแม้จะรับฟังว่าเป็นความจริงก็เป็นกรณีที่สมาชิกของกลุ่มดังกล่าวจะว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่งเมื่อเกิดกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว
ปัญหาที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การดำเนินการของกลุ่มสวัสดิการเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 นั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และไม่มีประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณาในชั้นนี้เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีในฐานะเป็นตัวแทนของกลุ่มสวัสดิการ แต่โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ตามสัญญากู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ค้ำประกันไม่เกี่ยวกับการดำเนินการของกลุ่มแต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
สำหรับจำเลยที่ 1 นั้นปรากฏตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1จ.2 และ จ.3 ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้จำนวนแน่นอนเฉพาะสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เท่านั้น คืออัตราชั่งละ 1 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 15 ต่อปี ส่วนสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3ระบุเพียงว่ายอมให้ดอกเบี้ยทุกเดือนจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จไม่ชัดแจ้งแน่นอนว่าเป็นดอกเบี้ยอัตราเท่าใด ต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กู้ ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับเงินกู้ตามเอกสารหมายจ.2 และ จ.3 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 7 เท่านั้น
ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1เฉพาะตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เท่านั้น ส่วนสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 ด้วย จึงไม่ถูกต้อง ทั้งปรากฏด้วยว่าสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5มีข้อความเพียงว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ชำระแทนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน

Share