คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5065/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ฟ้องขอให้บุคคลภายนอกโอนที่ดิน น.ส.3 ซึ่งมีชื่อ ว.เป็นเจ้าของให้แก่โจทก์ ศาลได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลวินิจฉัยว่า แม้จะฟังว่าที่ดินเป็นของโจทก์ก็ไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ เช่นนี้ ศาลยังมิได้พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจัดการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามคำพิพากษาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่ดินที่มีการครอบครองรวม 4 แปลง จากชื่อนายวิโรจน์ วงสีสาเป็นชื่อโจทก์ตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานไม่จดทะเบียนให้ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนดังกล่าวศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า คำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 475/2528 ของศาลจังหวัดมหาสารคาม ได้พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ คดีถึงที่สุด จำเลยทั้งสองไม่ยอมทำนิติกรรมจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น มีปัญหาวินิจฉัยว่าคำพิพากษาในคดีดังกล่าวได้พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีดังกล่าวโจทก์ฟ้องเรียกที่ดินตาม น.ส.3ทะเบียนเล่ม 51 หน้า 17 ทะเบียนเลขที่ 661 เลขที่ดิน 53ทะเบียนเลขที่ 704 เลขที่ดิน 97 และทะเบียนเลขที่ 702 เลขที่ดิน 95ตำบลนาสีนวล อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีชื่อนายวิโรจน์ วงสีสา คืนจากนายสงค์ วงสีสา กับพวกจำเลย ขอให้จำเลยโอนที่ดิน น.ส.3 ก. ทะเบียนเล่มที่ 51 หน้า 17 น.ส.3 ก.เลขที่ 661 เลขที่ดิน 53 น.ส.3 ก. ทะเบียนเลขที่ 704 เลขที่ดิน 97ให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว หากจำเลยไม่ทำตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทนจำเลยกับให้จำเลยแบ่งที่ดินตาม น.ส.3 ก.ทะเบียนเลขที่ 702 เลขที่ดิน 95 ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากไม่กระทำตามให้ศาลมีคำสั่งนำที่ดินออกขายทอดตลาด แล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุดเมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ เพียงแต่วินิจฉัยว่าแม้จะฟังว่าเป็นของโจทก์ก็ไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยในคดีนี้จัดการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”
พิพากษายืน

Share