คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5061/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บริษัทนายจ้างยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องซึ่งเป็นสหภาพแรงงาน แล้วผู้ร้องไม่ยอมรับข้อเรียกร้องและไม่ยอมเจรจานั้นถือว่าได้มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น เมื่อบริษัทนายจ้างได้แจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานอันเป็นการดำเนินการตาม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 21 แล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานที่จะพิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าวและดำเนินการไกล่เกลี่ย ให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องตกลงกันต่อไปตามมาตรา 22 หากไม่อาจตกลงกันได้บริษัทนายจ้างและผู้ร้องชอบที่จะดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 วรรคท้าย ต่อไป จะใช้สิทธิทางศาลขอให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าการยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ชอบหาได้ไม่ เพราะตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หาได้มีบทบัญญัติให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลสำหรับกรณีนี้แต่ประการใดไม่

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๓ ผู้ร้องได้ยื่นข้อเรียกร้องตามสำเนาเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข ๓ ต่อบริษัทยามาอุจิ ซันเงียว จำกัด เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ครั้นเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๓๓ หลังจากการเจรจาตกลงกันไม่ได้ บริษัทยามาอูจิ ซันเงียว จำกัด ได้ยื่นข้อเรียกร้องสวนทางต่อผู้ร้องตามสำเนาเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข ๔ เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตามสำเนาบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เอกสารท้ายคำร้องหมายเลขข ๕ ข้อ ๕ เกี่ยวกับเรื่องโบนัส ซึ่งผู้ร้องไม่รับข้อเรียกร้องและไม่เจรจา เนื่องจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับถึงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๓ บริษัทยามาอูจิ ซันเงียวจำกัด ไม่อาจยื่นข้อเรียกร้องหลังจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสิ้นสุดลงแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๓ บริษัทยามาอูจิซันเงียว จำกัด ได้แจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดปทุมธานี แต่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้เนื่องจากผู้ร้องโต้แย้งว่าข้อเรียกร้องของบริษัทยามาอูจิ ซันเงียว จำกัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะบริษัทยามาอูจิ ซันเงียว จำกัด ยื่นข้อเรียกร้องสวนทางต่อผู้ร้องหลังจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสิ้นสุดลงแล้ว ผู้ร้องกับผู้แทนบริษัทยามาอูจิ ซันเงียว จำกัด ได้ตกลงกันให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าข้อเรียกร้องของบริษัทยามาอูจิ ซันเงียวจำกัด ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าข้อเรียกร้องของบริษัทยามาอูจิ ซันเงียว จำกัด ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่า ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดตามคำร้องของผู้ร้องได้หรือไม่พิเคราะห์แล้ว ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นสหภาพแรงงานไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของบริษัทยามาอูจิ ซันเงียว จำกัดที่ขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ดดยอ้างว่าบริษัทยามาอูจิ ซันเงียวจำกัด ยื่นข้อเรียกร้องสวนทางต่อผู้ร้อง ไม่อาจยื่นข้อเรียกร้องหลังจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสิ้นสุดลงแล้ว และเมื่อบริษัทยามาอูจิ ซันเงียว จำกัด แจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานก็ไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่บริษัทยามาอูจิ ซันเงียวจำกัด ยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องซึ่งเป็นสหภาพแรงงานแล้วผู้ร้องไม่ยอมรับข้อเรียกร้องและไม่ยอมเจรจานั้น ถือว่าได้มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น บริษัทยามาอูจิ ซันเงียว จำกัด จึงได้แจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๑ เมื่อได้รับแจ้งข้อพิพาทแรงงานแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานที่จะพิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่างและดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องกระฝ่ายรับข้อเรียกร้องตกลงกันต่อไปตามมาตรา๒๒ หากไม่อาจตกลงกันได้ บริษัทยามาอูจิ ซันเงียว จำกัด และผู้ร้องชอบที่จะดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒ วรรคท้าย ต่อไป ทั้งตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ก็หาได้มีบทบัญญัติให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลขอให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าการยื่นข้อเรียกร้องไม่ชอบไว้แต่ประการใดไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒มาตรา ๘(๓) และมาตรา ๓๑ ฉะนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้วินิจฉัยชี้ขาดตามคำร้องได้
พิพากษายืน.

Share