แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 46 ทศ มุ่งประสงค์จะให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลที่กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 นว หรือทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันมิให้บุคคลที่กระทำความผิดยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย แม้ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ จะถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 แต่กฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลัง ยังคงมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้ในทำนองเดียวกัน คำสั่งอายัดทรัพย์สินโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในคดีนี้จึงยังมีผลใช้บังคับได้ เมื่อพิจารณาจากคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งห้ามีฐานะเป็นภริยาและบุตรของจำเลย ประกอบกับทรัพย์สินที่ผู้ร้องทั้งห้าขอเพิกถอนการอายัดนั้น เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ยกให้โดยเสน่หา และยังมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท จึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าดังกล่าวภายหลังคดีอาญาที่เป็นคดีหลักมีคำพิพากษาถึงที่สุดเสียก่อน ซึ่งเป็นดุลพินิจโดยชอบของศาลชั้นต้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของธนาคารแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 46 ทศ อ้างว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ร้องทั้งห้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่ถูกอายัด และไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นของจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าว่า รับคำร้อง สำเนาให้ผู้คัดค้าน นัดไต่สวนคำร้องภายหลังคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4550/2549 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุด ในชั้นนี้ให้จำหน่ายคำร้องชั่วคราว แจ้งผู้ร้องทั้งห้าทราบ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และสั่งให้มีการนัดไต่สวนต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นภริยาของจำเลย ผู้ร้องที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรของผู้ร้องที่ 1 กับจำเลย จำเลยเคยเป็นกรรมการผู้จัดการ กรรมการบริหารและกรรมการพิจารณาให้สินเชื่อชุดบริหารของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ส่วนนายมาโนช เคยเป็นประธานกรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานกรรมการ พิจารณาให้สินเชื่อชุดบริหารและกรรมการผู้จัดการ และนางภคินี เคยเป็นรองกรรมการผู้จัดการ และกรรมการพิจารณาให้สินเชื่อชุดบริหารของผู้เสียหาย นายสุเทพ กับพวก เคยเป็นลูกค้าของผู้เสียหาย ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบพบว่าเมื่อระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม 2538 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2540 จำเลย นายมาโนชและนางภคินีร่วมกันอนุมัติสินเชื่อของผู้เสียหายให้แก่นายสุเทพกับพวกคิดเป็นเงินกว่า 4,000 ล้านบาท ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 ธนาคารแห่งประเทศไทยร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีแก่บุคคลดังกล่าว และเห็นว่าหากปล่อยเนิ่นช้าไว้อาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 46 ทศ จึงมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าว และแจ้งคำสั่งอายัดไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งห้าว่า การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้นัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าที่ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของธนาคารแห่งประเทศไทยภายหลังคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4550/2549 ของศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 46 นว วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ในการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ กรรมการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในธนาคารพาณิชย์ กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามบทบัญญัติในหมวด 1 หมวด 3 หมวด 4 หมวด 5 หรือหมวด 7 ของลักษณะ 12 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือมาตรา 40 มาตรา 41 หรือมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 หรือมาตรา 243 หรือมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2521 … ให้ถือว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” และวรรคสองบัญญัติว่า “ในความผิดตามมาตรานี้ เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ให้พนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สิน หรือราคา หรือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแทนผู้ได้รับความเสียหายด้วย ในการนี้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม” และมาตรา 46 ทศ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 นว และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าหากปล่อยเนิ่นช้าไว้อาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้นหรือทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น แต่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้เกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีมีการฟ้องคดีต่อศาลให้คำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าวยังคงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องคดีได้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ศาลที่มีเขตอำนาจจะสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีกตามคำขอของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ ” จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 46 ทศ มุ่งประสงค์จะให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลที่กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 นว หรือทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันมิให้บุคคลที่กระทำความผิดยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย แม้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ จะถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 แต่กฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลัง ยังคงมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้ในทำนองเดียวกัน คำสั่งอายัดทรัพย์สินโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในคดีนี้จึงยังมีผลใช้บังคับได้ เมื่อพิจารณาจากคำร้องของผู้ร้องทั้งห้า ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งห้ามีฐานะเป็นภริยาและบุตรของจำเลย ประกอบกับทรัพย์สินที่ผู้ร้องทั้งห้าขอเพิกถอนการอายัดนั้น เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ยกให้โดยเสน่หา และยังมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท จึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าดังกล่าวภายหลังคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4550/2549 ของศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาถึงที่สุดเสียก่อน ซึ่งเป็นดุลพินิจโดยชอบของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้นัดไต่สวนคำร้องดังกล่าวภายหลังคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4550/2549 ของศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน