คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายและล.พี่สาวมีอาชีพให้เช่าเช็คเดินทางเพื่อให้ผู้เช่านำไปเป็นหลักฐานของวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น ส่วนจำเลยและบ.มีอาชีพติดต่อขอวีซ่าให้แก่บุคคลที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ในการให้เช่าเช็คเดินทางเพื่อนำไปเป็นหลักฐานขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นนั้นผู้เสียหายและล.จะซื้อเช็คเดินทางจากธนาคารโดยไม่ลงลายมือชื่อที่ข้างบนและข้างล่างด้านหน้าของเช็คเดินทางเมื่อมีผู้ขอเช่าผู้เสียหายจะให้ผู้เช่าลงลายมือชื่อที่ข้างบนด้านหน้าเช็คเดินทางแล้วมอบเช็คเดินทางดังกล่าวให้ผู้เช่านำไปเป็นหลักฐานขอวีซ่าเมื่อเจ้าหน้าที่สถานทูตออกวีซ่าให้แก่ผู้เช่าแล้วผู้เช่าจะลงลายมือชื่อที่ข้างล่างด้านหน้าเช็คเดินทางแล้วส่งคืนให้แก่ผู้เสียหายดังนี้พฤติการณ์ที่จำเลยกับบ. เข้ามาพูดทำทีขอเช่าเช็คเดินทางจากผู้เสียหายและล. ก่อนที่จำเลยจะดึงเอาเช็คเดินทางจากมือผู้เสียหายไปการที่จำเลยพูดห้ามมิให้ผู้เสียหายและล.วิ่งตามบ. ขึ้นไปที่อาคารขึ้น4อันเป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นและบอกว่าจะชำระค่าเช่าให้แก่ผู้เสียหายตลอดทั้งจะคืนเช็คเดินทางให้ผู้เสียหายเป็นเพียงอุบายที่จำเลยกับบ.จะให้ผู้เสียหายส่งมอบการครอบครองเช็คเดินทางของผู้เสียหายเพื่อจำเลยและบ. จะเอาเช็คเดินทางของผู้เสียหายไปโดยไม่คิดจะคืนให้ผู้เสียหายจำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์และการที่จำเลยกับพวกเอาเอกสารเช็คเดินทางของผู้เสียหายไปแล้วไม่คืนให้แก่ผู้เสียหายแม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้นำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารการกระทำของจำเลยก็เป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายจึงเป็นการเอาเอกสารผู้อื่นไปเสียจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา188ด้วย การจับกุมกับการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขึ้นตอนกันในคดีอาญาเมื่อการสอบสวนได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วถึงแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าการจับกุมอาจมิชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวกันอีกต่างหากหาทำให้การสอบสวนซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้นกระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญาไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188, 335, 83 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์160,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) วรรคสอง, 188, 83การกระทำเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 335(7) วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 160,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าระหว่างเกิดเหตุนางสาววรารัตน์ ผู้เสียหายและนางลัดดาพี่สาวมีอาชีพให้เช่าเช็คเดินทางเพื่อให้ผู้เช่านำไปเป็นหลักฐานขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น ส่วนจำเลยและนายบุญเรือนมีอาชีพติดต่อขอวีซ่าให้แก่บุคคลที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ในการให้เช่าเช็คเดินทางเพื่อนำไปเป็นหลักฐานขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นนั้นผู้เสียหายและนางลัดดาจะซื้อเช็คเดินทางจากธนาคารโดยไม่ลงลายมือชื่อข้างบนและข้างล่างด้านหน้าของเช็คเดินทางเมื่อมีผู้ขอเช่าผู้เสียหายจะให้ผู้เช่าลงลายมือชื่อที่ข้างบนด้านหน้าเช็คเดินทางแล้วมอบเช็คเดินทางดังกล่าวให้ผู้เช่านำไปเป็นหลักฐานขอวีซ่า เมื่อเจ้าหน้าที่สถานทูตออกวีซ่าให้แก่ผู้เช่าแล้ว ผู้เช่าจะลงลายมือชื่อที่ข้างล่างด้านหน้าเช็คเดินทางแล้วส่งคืนให้แก่ผู้เสียหาย ในวันเวลาเกิดเหตุผู้เสียหายและนางลัดดาได้พบกับจำเลยและนายบุญเรือนที่บริเวณชั้นล่างของอาคารอโศกทาวเวอร์ แขวงคลองเตย เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำการสถานเอกอัคราชทูตญี่ปุ่นตั้งอยู่บนชั้น 4ของอาคารดังกล่าว
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำผิดดังศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายและนางลัดดาเป็นพยานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 11 นาฬิกา ขณะที่พยานทั้งสองยืนอยู่ชั้นล่างของอาคารอโศกทาวเวอร์เพื่อให้เช่าเช็คเดินทาง มีจำเลยและนายบุญเรือนเข้ามาพูดกับพยานทั้งสองว่า ต้องการเช็คเดินทางเพื่อนำไปเป็นหลักฐานขอวีซ่าแก่ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นจำนวน 3 คน นางลัดดาให้ผู้เสียหายเอาเช็คเดินทางฉบับละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 12 ฉบับออกมา จำเลยเข้ามาดึงเอาเช็คดังกล่าวไปและพูดว่าใกล้เที่ยงแล้วเดี๋ยวจะทำวีซ่าไม่ทัน จากนั้นจำเลยส่งเช็คเดินทางให้แก่นายบุญเรือน และนายบุญเรือนวิ่งขึ้นบนอาคารอโศกทาวเวอร์ชั้น 4 ผู้เสียหายวิ่งตามนายบุญเรือนขึ้นไปแต่ถูกจำเลยห้ามไว้โดยจำเลยพูดรับรองว่าจะจ่ายค่าเช่าเช็คเดินทางให้แก่ผู้เสียหายผู้เสียหายไม่สามารถเข้าไปยังที่ทำวีซ่าได้เพราะบริเวณดังกล่าวเจ้าหน้าที่อนุญาตให้เฉพาะผู้ที่เช้าไปขอวีซ่าเท่านั้นเข้าไปได้เห็นว่าผู้เสียหายและนางลัดดาเบิกความยืนยันสอดคล้องกันว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยกับนายบุญเรือนเข้ามาพูดทำทีขอเช่าเช็คเดินทางจากผู้เสียหายและนางลัดดา ขณะที่ผู้เสียหายนำเช็คเดินทางออกมานับจำเลยได้ดึงเอาเช็คดังกล่าวไปและส่งต่อให้แก่นายบุญเรือน จากนั้นนายบุญเรือนก็วิ่งขึ้นไปบนชั้น 4ของอาคารอโศกทาวเวอร์โดยไม่มีการตกลงราคาค่าเช่าและชำระค่าเช่าเช็คเดินทางให้แก่ผู้เสียหายที่จำเลยอ้างว่าในวันเกิดเหตุผู้เสียหายให้ชาย 3 คน ซึ่งมากับนายบุญเรือนเช่าเช็คเดินทางแล้วนายบุญเรือนและชาย 3 คน ดังกล่าวไม่คืนเช็คเดินทางให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยซึ่งรู้จักกับนายบุญเรือนเพียงรับปากจะติดตามนายบุญเรือนให้นำเช็คเดินทางมาคืนให้ผู้เสียหายนั้นไม่มีเหตุผลให้รับฟัง พฤติการณ์ที่จำเลยกับนายบุญเรือนเข้ามาพูดทำทีขอเช่าเช็คเดินทางจากผู้เสียหายและนางลัดดาก่อนที่จำเลยจะดึงเอาเช็คเดินทางจากมือผู้เสียหายไปการที่จำเลยพูดห้ามมิให้ผู้เสียหายและนางลัดดาวิ่งตามนายบุญเรือนขึ้นไปที่อาคารอโศกทาวเวอร์ และบอกว่าจะชำระค่าเช่าให้แก่ผู้เสียหายตลอดทั้งจะคืนเช็คเดินทางให้ผู้เสียหายเป็นเพียงอุบายที่จำเลยกับนายบุญเรือนจะให้ผู้เสียหายส่งมอบการครอบครองเช็คเดินทางของผู้เสียหายเพื่อจำเลยและนายบุญเรือนจะเอาเช็คเดินทางของผู้เสียหายไปโดยไม่คิดจะคืนให้ผู้เสียหายเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์และการที่จำเลยกับพวกเอาเอกสารเช็คเดินทางของผู้เสียหายไปแล้วไม่คืนให้แก่ผู้เสียหายแม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้นำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร การกระทำของจำเลยก็เป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย จึงเป็นการเอาเอกสารผู้อื่นไปเสีย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 ด้วย
ส่วนที่จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายในทำนองว่าสิบตำรวจโทเสน่ห์ มิใช่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามกฎหมายได้จับจำเลยโดยไม่มีหมายจับ หรือผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบ การจับกุมจึงมิชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การจับกุมกับการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกันในคดีอาญาเมื่อการสอบสวนได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วถึงแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าการจับกุมอาจมิชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่อง>ที่จะว่ากล่าวกันอีกต่างหาก หาทำให้การสอบสวนซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้นกระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญาไม่
พิพากษายืน

Share