คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 505/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความในข้อ (1) แห่งพินัยกรรมมีว่า “ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้วบรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่ (มี) อยู่และที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมนี้ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ คือ ฯลฯ” นั้น ประกอบกับข้อ 7 แห่งพินัยกรรมซึ่งความว่า “ที่ดินที่ข้าพเจ้ายกให้กับนายแสวง เดชแสง (จำเลย) นี้ ฯลฯ ” ดังนี้ เห็นว่าหนังสือพินัยกรรมดังกล่าวระบุผู้รับทรัพย์ไว้โดยแจ้งชัดว่าคือจำเลยนั่นเอง
เมื่อเจ้ามรดกยกทรัพย์สินตามพินัยกรรมให้แก่จำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิรับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โจทก์คงมีแต่สิทธิอาศัยเหนือพื้นดินในพินัยกรรมดังกล่าวในข้อ 3 แห่งพินัยกรรมเท่านั้น ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องขอแบ่งเอากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือขอแบ่งค่าเช่า อันเป็นประโยชน์เกิดจากทรัพย์นั้น ๆ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางแต๋วมารดาโจทก์จำเลยถึงแก่กรรม นางแต๋วมีบุตร ๘ คน รวมทั้งโจทก์จำเลย นางแต๋วมีที่ดิน ๒ แปลง คือ ที่ดินโฉนดที่ ๔๓๔๓ เลขที่ ๕๑ โฉนดที่ ๔๓๔๔ เลขที่ ๑๙๙ นางแต๋วทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองมีใจความพอให้เข้าใจได้เพียงว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ไม่ปรากฏว่ายกทรัพย์ให้ผู้ใด โจทก์ทั้งสองกับบุตรหลานเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดก ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอขอรับหนังสือพินัยกรรมของนางแต๋วไป และแอบลงชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดแปลงเลขที่ ๑๙๙ เสียคนเดียว ฯลฯ ขอให้จำเลยจัดการแบ่งที่ดินตามฟ้องออกเป็นแปลง ๆ ละ ๘ ส่วนเท่า ๆ กัน ให้โจทก์ทั้งสองกับเจ้าของกรรมสิทธิ์แปลงละคนละ ๑ ส่วน ให้จำเลยแบ่งเงินรายได้ค่าเช่าที่ดิน ฯลฯ
จำเลยให้การว่า นางแต๋วทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์มรดก หรือที่ดิน ๒ โฉนดให้จำเลยแต่ผู้เดียว ฯลฯ
โจทก์ร่วมที่ ๑, ๒, ๓, ๔ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ เพื่อขอแบ่งส่วนมรดกตามสิทธิของผู้ร้องจากจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้เรียกร้องผู้สอดว่าโจทก์ที่ ๓, ๔, ๕, ๖ ตามลำดับ
ทนายโจทก์จำเลยแถลงรับกันว่า นางแต๋วได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองลงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย เห็นว่า โจทก์และผู้ร้องสอดทั้ง ๔ ไม่มีสิทธิรับทรัพย์ตามพินัยกรรม พิพากษายกฟ้อง และคำร้องสอดของผู้ร้องทั้ง ๔
โจทก์ทั้ง ๖ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ ๑ ถึง ที่ ๕ ฎีกา
คดีมีประเด็นว่า หนังสือพินัยกรรมระบุผู้รับทรัพย์ไว้ชัดแจ้งหรือกำหนดลักษณะของผู้รับทรัพย์ไว้ตามกฎหมายหรือไม่ พินัยกรรมตามสำเนาท้ายฟ้องที่ว่า “ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้ว บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่ (มี)อยู่และที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมนี้ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้คือ ฯลฯ ” นั้น ประกอบกับข้อ ๓ แห่งพินัยกรรมซึ่งมีความว่า “ที่ดินที่ข้าพเจ้ายกให้กับนายแสวง เดชแสง นี้ ฯลฯ” ด้วยแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า หนังสือพินัยกรรมฉบับดังกล่าวระบุผู้รับทรัพย์ไว้โดยแจ้งชัดว่าคือจำเลยนั่นเอง เพราะข้อความในพินัยกรรมทั้ง ๒ ข้อที่กล่าวแล้วนั้น ได้ความรับรองสอดคล้องกันเป็นอันดี กล่าวคือในข้อ ๑ ว่า” ฯลฯ บรรดาทรัพย์สิน ฯลฯ ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมนี้ ฯลฯ” แล้วก็มีข้อความในข้อ ๓ ระบุชื่อจำเลยไว้คนเดียว นอกจากนั้น หามีชื่อคนอื่นอีกไม่ โดยเฉพาะความในข้อ ๓ ระบุชื่อจำเลยไว้คนเดียว นอกจากนั้น หามีชื่อคนอื่นอีกไม่ โดยเฉพาะความข้อ ๓ ก็กล่าวชัดแจ้งว่า “ที่ดินที่ข้าพเจ้ายกให้กับนายแสวง เดชแสง” ดังนี้แล้วโจทก์จะว่าพินัยกรรมไม่ปรากฏว่ายกทรัพย์สินให้แก่ผู้ใดกระไรได้ เมื่อเจ้ามรดกยกทรัพย์ตามพินัยกรรมให้แก่จำเลย จำเลยก็ย่อมมีสิทธิรับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โจทก์ทั้งสองและโจทก์ร่วมคงมีแต่สิทธิอาศัยเหนือพื้นดินในพินัยกรรมดังกล่าวข้อ ๓ แห่งพินัยกรรมเท่านั้น หามีสิทธิที่จะเรียกร้องขอแบ่งเอากรรมสิทธิ์ในทรัพย์หรือขอแบ่งค่าเช่าอันเป็นประโยชน์เกิดจากทรัพย์นั้น ๆ ไม่
พิพากษายืน

Share