คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5043/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อเช็คพิพาทออกในมูลหนี้กู้ยืมเงินและมี ดอกเบี้ย เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วย แม้ต่อมาธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ผู้ออกเช็คก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเช็คฯ มาตรา 3จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามฟ้อง ซึ่งจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยจะมีความผิดตามฟ้องหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เบิกความชัดเจนว่ากรณีตามฟ้องเป็นเรื่องจำเลยนำเช็คพิพาทมาแลกเงินสดไปจากโจทก์มิใช่กู้ยืมเงิน แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กลับฟังว่าเป็นเรื่องกู้ยืมเงิน และโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา เป็นการฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การฟังและเชื่อพยานหลักฐานส่วนไหนอย่างไรในสำนวนเป็นดุลพินิจของศาล ที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานว่า เช็คพิพาทมีมูลมาจากกรณีที่โจทก์ให้จำเลยกู้เงินและโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ก็เป็นการรับฟังจากคำพยานของคู่ความในสำนวนนั่นเอง กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้โดยชอบทั้งไม่มีพยานหลักฐานว่าโจทก์ได้หักเงินเป็นค่าดอกเบี้ยไว้ก่อนนั้นเห็นว่า คดีนี้ต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 22 ซึ่งแก้ไขแล้ว ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า เช็คพิพาทมีทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราอยู่ด้วยกัน ดังนี้ฎีกาโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริง ที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ขึ้นมาอีก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ถึงจะฟังว่าการออกเช็คพิพาทเป็นเรื่องกู้ยืมเงินและคิดดอกเบี้ยเกินอัตราด้วย เช็คพิพาทก็ยังเป็นเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราย่อมเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. 2475 มาตรา 3 โจทก์ใช้สิทธินำเช็คพิพาทไปยื่นต่อธนาคารเพื่อให้จ่ายเงินตามเช็คซึ่งมีมูลหนี้ผิดกฎหมายรวมอยู่ เป็นการกระทำความผิดทางอาญาแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะทำได้และไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องบังคับให้ใช้เงินจำนวนตามเช็คนั้นได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คตามฟ้อง ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share