คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทรัพย์ตามฟ้องซึ่งถูกคนร้ายลักไปเป็นของกระทรวงกลาโหม อยู่ในความดูแลของกรมสรรพาวุธทหารบกซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกองทัพบก กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม ต่างก็เป็นนิติบุคคลและเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ การที่เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ผู้ครอบครองดูแลทรัพย์ดังกล่าว มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย ทั้งคดีนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการ กรมอัยการ ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
เดิมอัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดเดียวกับคดีนี้ไว้แล้ว ต่อมาขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์คดีนั้นได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง โดยอ้างว่าจำเลยเป็นบุคคลพลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหารกระทำความผิดฐานรับของโจรและมีอาวุธปืนไว้โดยฝ่าฝืนกฎหมายนอกที่ตั้งหน่วยทหาร คดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498มาตรา 14 (2) โจทก์จึงขอถอนฟ้องเพื่อส่งคืนพนักงานสอบสวนให้ส่งพนักงานอัยการพลเรือนดำเนินการต่อไปมิใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาดตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36แต่เป็นการถอนฟ้องเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องเกี่ยวกับอำนาจศาลเท่านั้นและแม้กรณีศาลทหารยกฟ้องเพราะเหตุคดีอยู่ในอำนาจศาลพลเรือน พนักงานอัยการก็ยังนำคดีมาฟ้องต่อศาลพลเรือนได้ ดังนั้นสิทธินำคดีมาฟ้องจึงหาระงับไปไม่พนักงานอัยการ กรมอัยการ มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้
ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังพยานโจทก์ที่เคยตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหาด้วยกัน เป็นแต่มีน้ำหนักให้รับฟังมากน้อยเพียงใดเท่านั้น หากศาลเห็นว่าพยานเช่นว่านั้นเบิกความประกอบชอบด้วยเหตุผล เชื่อได้ว่าเบิกความตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ศาลก็มีอำนาจรับฟังพยานดังกล่าวประกอบคดีของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ มีคนร้ายลักอาวุธปืนเล็กยาวแบบเอ็ม ๑๖ จำนวน ๓ กระบอก ราคา ๑๔,๘๘๖ บาท ของกรมสรรพาวุธทหารบก กระทรวงกลาโหม ซึ่งอยู่ในความครอบครองของพันโททิวส์ หงษ์อ่ำไปโดยทุจริต ต่อมาจำเลยบังอาจมีชิ้นส่วนของอาวุธปืนเล็กยาวตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาวุธปืนที่ถูกคนร้ายลักไป และจำเลยได้จำหน่ายชิ้นส่วนอาวุธปืนนั้นให้แก่ผู้มีชื่อ และผู้มีชื่อได้นำมามอบให้เจ้าทรัพย์แล้ว ทั้งนี้โดยจำเลยเป็นคนร้ายลักอาวุธปืนเล็กยาวตามฟ้องไปเอง หรือมิฉะนั้นก็รับชิ้นส่วนอาวุธปืนดังกล่าวไว้ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการลักทรัพย์ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ และได้ชิ้นส่วนอาวุธปืนดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๕๗, ๙๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๕๕, ๗๘ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๒ ม. ๖, ๘ คืนของกลางแก่เจ้าของ และคืนหรือใช้ราคาอาวุธปืนที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าของด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์และมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ลงโทษฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ จำคุก ๕ ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๕๕, ๗๘ จำคุก ๕ ปี รวมจำคุก ๑๐ ปี คำรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๖ ปี ๘ เดือน คืนของกลางและคืนอาวุธที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยฐานลักทรัพย์และมีอาวุธปืนที่ทางราชการออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ กระทงละ ๒ ปี รวมจำคุก ๔ ปี คำรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ๘ เดือน คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามข้อฎีกาของจำเลยมีว่า
(๑) อำนาจฟ้อง
(๒) ฟ้องโจทก์สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่
(๓) สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปหรือไม่
(๔) ศาลอุทธรณ์รับฟังพยานหลักฐานโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ปัญหาข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศาลฎีกาเห็นสมควรจะวินิจฉัยข้อฎีกาของจำเลยทั้ง ๔ ข้อตามลำดับไป ในปัญหาข้อ ๑ เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง จำเลยฎีกาว่า กรมสรรพาวุธทหารบกไม่เป็นนิติบุคคลไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข็ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ในเรื่องนี้ปรากฏชัดตามคำฟ้องของโจทก์ว่า มีคนร้ายลักทรัพย์ตามฟ้องของกรมสรรพาวุธทหารบก กระทรวงกลาโหม ไป อันฟังได้ว่าทรัพย์ตามฟ้องป็นของกระทรวงกลาโหม อยู่ในความดูแลของกรมสรรพาวุธทหารบก ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกองทัพบก กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบกเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘ และกระทรวงกลาโหมเป็นนิติบุคคลตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒ และ ๗๓ และเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ ดังนั้นการที่พลโทองอาจ ศุภมาตย์ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ผู้ครอบครองดูแลทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายในคดีนี้ มอบอำนาจให้ร้อยเอกอยุธยา ธีระเนตร ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีนี้แก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.๒ ทั้งคดีนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการกรมอัยการมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ปัญหาข้อ ๒ ที่ว่า ฟ้องโจทก์สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ ปรากฏว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความเป็นมาแห่งทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง รายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ รวมทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการนั้นเพียงพอให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ไม่มีข้อความตอนใดที่ขัดแย้งกันอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ดังฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ ปัญหาข้อ ๓ ที่ว่า สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปหรือไม่ ได้ความตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๓๕ ก./๒๕๒๗ ของศาลทหารกรุงเทพ ที่จำเลยอ้างมาว่า เดิมอัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดเดียวกับคดีนี้ไว้ ต่อมาขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา โจทก์คดีนั้นได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง โดยอ้างเหตุในคำร้องว่า จำเลยเป็นบุคคลพลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหารกระทำความผิดฐานรับของโจรและมีอาวุธปืนไว้โดยฝ่าฝืนกฎหมายนอกที่ตั้งหน่วยทหาร คดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ (๒) โจทก์ในคดีนั้นจึงขอถอนฟ้องเพื่อส่งคืนพนักงานสอบสวนให้ส่งพนักงานอัยการพลเรือนดำเนินการต่อไป อันเห็นได้ว่า มิใช่เป็นการขอถอนฟ้องเด็ดขาดตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๖ แต่เป็นการถอนฟ้องเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องเกี่ยวกับอำนาจศาลเท่านั้น แม้ศาลทหารยกฟ้องเพราะเหตุคดีอยู่ในอำนาจศาลพลเรือน พนักงานอัยการก็ยังนำคดีมาฟ้องต่อศาลพลเรือนได้ ดังนี้ พนักงานอัยการ กรมอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ สิทธิการนำคดีมาฟ้องหาระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๔) ไม่ สำหรับปัญหาข้อ ๔ จำเลยฎีกามาเป็น ๒ กรณี กรณีแรกที่ว่า ศาลอุทธรณ์รับฟังบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ที่พันโททิวส์ หงษ์อ่ำ พยานโจทก์บันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.๔ โดยจำเลยมิได้ลงชื่อรับรองและเป็นเอกสารที่มิได้เกิดขึ้นจากการสอบสวนของพนักงานสอบสวน จึงเป็นการรับฟังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์เชื่อตามคำเบิกความของพันโททิวส์พยานโจทก์ที่ยืนยันว่า จำเลยรับกับพยานว่าได้นำเอาชิ้นส่วนอาวุธปืนเอ็ม ๑๖ ของกลางไปจริง ดังนั้นแม้ศาลอุทธรณ์จะอ้างถึงบันทึกหมาย จ.๔ ก็เป็นเพียงอ้างอิงประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าว ข้อที่จำเลยได้แย้งเกี่ยวกับบันทึกเอกสารหมาย จ.๔ จึงมิใช่ประเด็นโดยตรง ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดี จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ส่วนฎีกาจำเลยในกรณีหลังที่ว่า ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจรับฟังคำพยานโจทก์คือ นายดิเรก โดพ่วงพันธ์ นายสมชาย ขวัญแพร นายจำรัส เริงทรง และนายบรรจง ดอกไม้งาม เพราะเป็นคำเบิกความซัดทอดของพยานที่ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหาด้วยกัน (ตามข้อเท็จจริง ผู้ที่ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหาด้วยกันมีเฉพาะนายจำรัสและนายบรรจง) ซึ่งตามฎีกาของจำเลยในข้อนี้ เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังพยานเช่นว่านั้นไว้แต่อย่างใด เป็นแต่มีน้ำหนักให้รับฟังมากน้อยเพียงใดเท่านั้น หากศาลเห็นว่าพยานเช่นว่านั้นเบิกความประกอบด้วยเหตุผล เชื่อได้ว่าเบิกความตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ศาลก็มีอำนาจรับฟังพยานดังกล่าวประกอบคดีของโจทก์ได้ สรุปแล้ว เห็นว่าฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ โดยไม่ระบุวรรคนั้นเห็นสมควรระบุเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ วรรคแรก (๘) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share